วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร

ประวัติ วัดโมลีโลกยาราม ผู้สร้างและผู้ปฏิสังขรณ์ ประวัติ วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร รวบรวมเรียบเรียงโดย พระเมธีวราภรณ์ (สุทัศน์ ป.ธ.๙) https://dmc.tv/a16922

บทความธรรมะ Dhamma Articles > พระพุทธศาสนา
[ 30 ต.ค. 2556 ] - [ ผู้อ่าน : 18275 ]

วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร

วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร
 
วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร

ชั้นและที่ตั้งวัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร

     วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด ราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๒ หลังพระราชวังเดิมครั้งกรุงธนบุรี ริมคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) ฝั่งเหนือ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

เขตและอุปจารวัด

           วัดนี้มีเนื้อที่จำนวน ๑๒ ไร่ ๓ งาน เว้นด้านหน้าวัดซึ่งจดคลองบางกอกใหญ่ด้านเดียวนอกนั้นกำแพงสูงประมาณ ๕ ศอก ล้อมทั้ง ๓ ด้าน บางด้านเป็นกำแพงพระราชวังเดิมเนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานพระราชวังเดิมสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง มีอาณาเขต ดังนี้

           ทิศเหนือ        ติดกำแพงกองทัพเรือ กรมสื่อสารทหารเรือ
           ทิศใต้            ติดคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งตรงกันข้ามเป็นที่ตั้งของวัดกัลยามิตร
           ทิศตะวันออก ติดกำแพงกองทัพเรือ บริเวณอาคาร ๕
           ทิศตะวันตก    ติดบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่วัดและสะพานอนุทินสวัสดิ์

ผู้สร้างและผู้ปฏิสังขรณ์

     วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อพุทธศักราชเท่าใด และใครเป็นผู้สร้าง มีชื่อเรียกทั่วไปว่า "วัดท้ายตลาด" มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน เนื่องจากตั้งอยู่ต่อจากตลาดเมืองกรุงธนบุรี คำว่า ตลาดเมืองธนบุรี นั้น ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า เดิมแม่น้ำพระยาไม่ได้ตัดเป็นเส้นตรงอย่างเช่นทุกวันนี้ ช่วงระหว่างปากคลองตลาดบางกอกน้อยบริเวณโรงพยาบาลศิริราชถึงบริเวณท่าเตียนนั้นเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขุดขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙) แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสัญจรทางน้ำการสงคราม การค้าขายทั้งในและนอกราชอาณาจักร เป็นต้น สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมในช่วงบางกอกนั้นเป็นสายที่คิดเคี้ยว เมื่อไหลเข้าสู่บางกอกจะไหลวกเข้าสู่คลองบางกอกน้อยเชื่อมต่อคลองบางกอกใหญ่ ไหลมาออกที่ปากน้ำบริเวณหน้าวัดท้ายตลาดกับบริเวณข้างวัดกัลยาณมิตร ทำให้เสียเวลาในการเดินทางเรือ จึงโปรดให้ขุดคลองลัดบางกอกดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณเหล่านี้ในสมัยนั้นเป็นตลาดน้ำขนาดใหญ่ที่มีเรือสินค้าทุกประเภทจอดเรียงรายเพื่อค้าขายสินค้าทุกชนิดเต็มไปหมด ซึ่งได้แก่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และปากคลองตลาดทุกวันนี้ วัดนี้จึงเรียกว่า "วัดท้ายตลาด" พระอารามนี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติและราชวงศ์ ดังนี้

สมัยกรุงธนบุรี

     หลังสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานีแห่งใหม่ของสยามประเทศแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเห็นว่าบริเวณเขตพระราชวังมีความคับแคบ เนื่องจากมีวัดขนาบอยู่ทั้งสองด้าน จึงทรงรวมเขตพื้นที่ของวัดทั้ง ๒ คือวัดท้ายตลาดกับวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) เข้าเป็นเขตพระราชวัง จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดสมัยกรุงธนบุรี วัดท้ายตลาดและวัดแจ้งจึงนับเป็นพระอารามในเขตพระราชงัวเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา
 
วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับที่ตั้งของกรุงธนบุรี คือ พระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรหรือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้นใหม่ จึงนับได้ว่า วัดนี้เป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่สมัยราชกาลที่ ๑

     ในการนี้ โปรดให้สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีหรือสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ (นาก) พระอัครมเหสีสร้างพระอุโบสถขนาดกลาง ทรงไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะวิจิตรงดงาม เมื่อสร้างและบูรณะเสนาสนะเสร็จแล้ว โปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาทั้งวัดท้ายตลาดและวัดแจ้ง ทรงตั้งพระมหาศรี เปรียญเอก วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็นพระเทพโมลี พร้อมคณะพระอันดับมาครองวัดท้ายตลาด นับเป็นปฐมเจ้าอาวาสในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลัง ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น พระพุทธโฆษาจารย์ และทรงตั้งให้พระปลัดสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) เป็นพระโพธิวงศาจารย์ ให้พระครูเมธังกร วัดบางหว้าใหญ่ เป็นพระศรีสมโพธิ โปรดให้พระราชาคณะทั้งสองมาครองวัดแจ้ง

     สมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "‌วัดพุทไธสวรรย์" หรือ "วัดพุทไธสวรรยาวาศวรวิหาร" ทรงเจริญพระราชศรัทธาในอดีตเจ้าอาวาสวัดนี้ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เนื่องจากสมัยนั้นสถานศึกษาวิชาการอยู่ตามวัด โปรดให้พระราชโอรสหลายพระองค์เสด็จมาทรงพระอักษรกับเจ้าประคุณสมเด็จรูปนี้ ทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็นพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น นอกจากนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพุทธโฆษาจารย์ ได้เป็นพระราชกรรมวาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อผนวชอีกด้วย ดังบันทึกไว้ในพงศาวดารว่า
    
     "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงตำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระญาณสังวรเถร (สุก)  เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์"

     สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ทั้งทั้งพระอารามให้บริบูรณ์งดงามยิ่งขึ้นกว่าเก่า สิ้นพระราชทรัพย์ห้าร้อยเก้าสิบหกชั่งแปดตำลึง ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธารามอาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง" เรียกสั้น ๆ ว่า "วัดโมลีโลกย์สุธาราม"  ซึ่งต่อมา เรียกว่า วัดโมลีโลกยาราม

     ในรัชกาลนี้ ทรงพระราชทานสถาปนาพระพุทธโฆษาจารย์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" และถึงมรณภาพในรัชกาลนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้หล่อรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) คราวเดียวกับพระรูปของพระญาณสังวรเถร (สุก) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ไว้ทรงสักการบูชาในหอพระเจ้า (หอสมเด็จวัดโมลีโลกย์) เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช ๒๓๘๖ เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาเวลาเสด็จมาทอดผ้าพระกฐิน


     มีประวัติเนื่องในพระราชวงศ์อีกอย่างหนึ่ง เมื่อรัชกาลที่ ๓ ครองราชย์สมบัติแล้วสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีหรือกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง (เจ้าฟ้าบุญรอด พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๗๙) พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จเสด็จออกไปประทับอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสพระองค์น้อยที่พระราชวังเดิม เมื่อรื้อตำหนักไม้ในพระบรมมหาราชวังเปลี่ยนสร้างเป็นพระตำหนังตึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อพระตำหนักแดง ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินีพระองค์นั้นเคยประทับไปสร้างถวายที่พระราชวังเดิมทั้งหมู่ ครั้นสมเด็จพระราชินีพระองค์นั้นสรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อพระตำหนักแดงที่พระราชมารดาเสด็จประทับไปสร้างถวายเป็นกุฏีเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกย์

     ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่า พระตำหนักแดงหลังนั้นควรจะอยู่ที่วัดเขมาภิรตารามเนื่องจากเป็นวัดที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีพระราชมารดาของพระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์จึงโปรดให้กระทำผาติกรรมย้ายพระตำหนักแดงหลังนั้นไปสร้างเป็นกุฎีเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม และทรงสร้างกุฎีตึกพระราชทานเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกย์แทนพระตำหนักแดง ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ทั้ง ๒ แห่งนอกจากนั้นได้ทรงปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และปูชนียวัตถุอื่น ๆ ในวัดโมลีโลกย์ตลอดทั้งพระอารามอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ พระอง๕ได้ทรงบูรณะพระอุโบสถโดยพระราชทานตราไอยราพรต ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดินสมัยนั้นประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะหอพระไตรปิฏกตรงกับสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) เป็นเจ้าอาวาส และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน พ.ศ.๒๔๑๘

     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงจัดลำดับพระอารามหลวงโปรดให้วัดโมลีโลกยารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด ราชวรวิหาร และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน พ.ศ.๒๔๕๘

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินเมื่อวันพุธ ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๑ นอกจากนั้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ รัฐบาลยังได้บูรณพระอาราม โดยเฉพาะเขตพุทธาวาส ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร หอสมเด็จ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อีกด้วย

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จมาวัดโมลีโลกยารามเพื่อนมัสการพระประธานในพระอุโบสถและเพื่อทอดพระเนตรหอพระไตรปิฎกสมัยราชกาลที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
 

     นับได้ว่า วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยและโบราณคดี เนื่องจากเป็นวัดที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษา มีความสำคัญต่อประเทศชาติและเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ สรุปได้ดังนี้

     ๑. เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง ๓ รัชกาลเป็นอย่างน้อย ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม
 
     ๒. เป็นสถานที่ศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อยังทรงพระเยาว์

     ๓.เป็นที่สถิตของสมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงคุณธรรมสำคัญ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ผู้เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวช

     อนึ่ง การบูรณปฏิสังขรณ์นอกจากที่กล่าวมาแล้วในยุคก่อน ก็น่าจะมีเจ้าอาวาสหรือผู้หนึ่งผู้ใดได้ปฏิสังขรณ์บ้าง แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏ พึ่งมาปรากฏในยุคพระสนิทสมณคุณ (เงิน) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๘ ได้จัดการปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้ดีขึ้นหลายแห่ง แต่ยังไม่ทันสมบูรณ์ก็ถึงมรณภาพ ครั้งถึงยุคพระประสิทธิคุณ (จ้อย) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๙ ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุสำคัญขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น เสนาสนะสงฆ์ พระประธาน ถนนและทำเขื่อนคอนกรีตหน้าวัด เป็นต้น ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งวัดอีกครั้งในยุคของพระพรหมกวี (วรวิทย์) เป็นเจ้าอาวาส ในช่วงระหว่างพุทธศักราช ๒๕๔๗-๒๕๕๑ เพื่อรองรับพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาอยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จำนวนมากกว่า ๑๕๐ รูป

ประวัติวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร รวบรวมเรียบเรียงโดย พระเมธีวราภรณ์ (สุทัศน์ ป.ธ.๙)

http://goo.gl/RlUVhh


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      พิธีทอดกฐินสามัคคีสร้างทุกสิ่ง ณ ธุดงคสถานแก้วโนนแดง
      ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนแท่นตะวัน จัดพิธีทอดกฐินสร้างศาลาปฏิบัติธรรมจันทสโร
      ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนลำดวนสวรรค์ จัดพิธีทอดกฐินเพื่อสร้างทุกสิ่ง
      วัดพระธรรมกาย จัดพิธีทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2564
      ศูนย์ปฏิบัติธรรมบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จัดงานบุญพิธีทอดกฐินสามัคคี
      ธุดงคสถานแก่นตะวัน จัดพิธีทอดกฐินเพื่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรม
      ธุดงคสถานนครธรรม จัดพิธีบุพเปตพลีออนไลน์
      วัดพระธรรมกายออเรกอน จัดพิธีบูชาข้าวพระ
      ศูนย์ปฏิบัติธรรมพัทลุง จัดพิธีทอดกฐินสามัคคี ถวายเครื่องปรับอากาศ
      ศูนย์อบรมเยาวชนเถินเทิดธรรม จัดพิธีทอดกฐินสามัคคี เพื่อสร้างทุกสิ่ง
      บรรยากาศชวนบวชโครงการอุปสมบท บูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์
      ศูนย์ปฏิบัติธรรมเพชรบูรณ์ จัดพิธีทอดกฐินสามัคคีเพื่อสร้างหอฉัน
      วัดพระธรรมกายและมูลนิธิธรรมกาย มอบถุงยังชีพให้แก่ส่งเสริมศีลธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน 400 ชุด




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related