สุกธรรมคุ้มครองโลก

ถ้าสัตว์เหล่าใด ไม่มีหิริและโอตตัปปะในกาลทุกเมื่อแล้ว สัตว์เหล่านั้น ก็เป็นผู้ปราศจากสุกธรรมอันเป็นรากเหง้า เป็นผู้เข้าถึงชาติและมรณะ ส่วนสัตว์เหล่าใด เข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้โดยชอบในกาลทุกเมื่อ สัตว์เหล่านั้นมีพรหมจรรย์งอกงาม เป็นผู้สงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว https://dmc.tv/a15817

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ธรรมะเพื่อประชาชน
[ 31 พ.ค. 2556 ] - [ ผู้อ่าน : 18283 ]
สุกธรรมคุ้มครองโลก


 
     สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนมีพื้นฐานของชีวิตเหมือนกัน คือความทุกข์ เช่นเดียวกับโลกที่มีความมืดเป็นพื้นฐาน แต่ที่เรามองเห็นคน สัตว์ สิ่งของหรือสิ่งต่างๆ ได้ เพราะมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หรือจากดวงไฟ หากเราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ว่าเป็นทุกข์แล้ว จะได้เกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์ทั้งหลาย และรีบขวนขวายหาทางหลุดพ้นออกจากทุกข์ แสวงหาความสุขที่แท้จริง การปฏิบัติธรรมเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เราได้รับความสุขที่แท้จริงและหลุดพ้นจากทุกข์ ไปถึงที่สุดแห่งธรรมได้
 
มีวาระพระบาลีใน ธรรมสูตร ความว่า
 
                            “เยสํ เจ หิริโอตฺตปฺปํ    สพฺพทา จ น วิชฺชติ
                             โวกฺกนฺตา สุกฺกมูลา    เต ชาติมรณคามิโน
                             เยสญฺจ หิริโอตฺตปฺปํ    สทา สมฺมา อุปฏฺฐิตา
                             วิรูฬฺหพฺรหฺมจริยา       เต สนฺโต ขีณปุนพฺภวา
 
     ถ้าสัตว์เหล่าใด ไม่มีหิริและโอตตัปปะในกาลทุกเมื่อแล้ว สัตว์เหล่านั้น ก็เป็นผู้ปราศจากสุกธรรมอันเป็นรากเหง้า เป็นผู้เข้าถึงชาติและมรณะ ส่วนสัตว์เหล่าใด เข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้โดยชอบในกาลทุกเมื่อ สัตว์เหล่านั้นมีพรหมจรรย์งอกงาม เป็นผู้สงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว”
 
     หิริโอตตัปปะ เป็นธรรมะคุ้มครองโลก โลกจะร่มเย็นเป็นสุขได้ ต้องอาศัยหิริโอตตัปปะเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ๒ ประการนี้ ถ้าหากมนุษย์ไม่มีศีลธรรม คนเราจะแยกไม่ออกว่า ใครคือพ่อแม่ ลุงป้า น้าอา หรือญาติพี่น้อง เพราะจะปะปนกันไป ไม่ต่างจากฝูงแพะ ฝูงแกะ ไก่ สุกร สุนัข เราจะสังเกตเห็นว่า สัตว์เดียรัจฉานนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีความละอายหรือเกรงกลัวที่จะทำบาปอกุศล แต่เพราะเรามีศีลธรรม จึงยังคงรักษาความเป็นปกติของมนุษย์ไว้ได้
 
     หิริคือความละอายต่อบาป โอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป เกรงกลัวต่อโทษหรือบาปอกุศลที่จะตามมา ตั้งแต่กลัวถูกตำหนิติเตียน กลัวถูกทำโทษ กลัวตกนรก จึงไม่กล้าทำบาป หิริท่านมักจะให้นึกถึงตนเองเป็นหลัก เช่น เห็นว่าตนเองเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้นำ ก็ไม่ควรทำความชั่ว เพราะจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อผู้อื่น หรือถ้าใครรู้เข้าก็อายเขาเป็นต้น
 
     ส่วนโอตตัปปะ มักมีลักษณะถือเอาโลกเป็นใหญ่ หรือนึกถึงผู้อื่นเป็นหลัก เช่นการไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความลำบาก เพราะกลัวจะเป็นบาปติดตัวไป หรือนึกว่า ในโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ มีสมณพราหมณ์ผู้มีอานุภาพที่มีทิพยจักษุ สามารถรู้เห็นสิ่งที่ลี้ลับ ถ้าหากท่านรู้ว่า เราได้ทำบาปอกุศล ท่านจะติเตียน ชื่อเสียงเกียรติคุณที่เคยสร้างมาทั้งหมดจะต้องพังพินาศไป เมื่อคิดได้ ก็ไม่กล้าทำบาป กลัวตกนรก กลัวพลัดตกไปเกิดในอบายภูมิ
 
     * มีเรื่องเล่าว่า ภิกษุรูปหนึ่งบวชด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ได้ไม่นาน อยากจะลาสิกขา พระพุทธองค์ทรงรู้วาระจิต จึงตรัสสอนว่า “ดูก่อนภิกษุ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น โบราณกบัณฑิตได้บวชในลัทธินอกพุทธศาสนา ไม่มีความยินดี ยังประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้กว่า ๕๐ ปี โดยไม่แสดงความที่ตนกระสันให้ปรากฏแก่ใครๆ เพราะมีหิริโอตตัปปะ เธอบวชในศาสนาที่จะนำสัตว์ออกจากทุกข์เห็นปานนี้ เหตุไรจึงคิดอยากจะออกไปแสวงหาทุกข์ให้ปรากฏในท่ามกลางบริษัท ๔ ทำไมเธอไม่รักษาหิริโอตตัปปะของตนไว้” จากนั้นพระองค์ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าเพื่อเป็นเครื่องสอนใจว่า
 
     ในอดีต พระองค์เกิดเป็นลูกของพราหมณ์ ซึ่งมีสมบัติมากมายมหาศาล เป็นผู้มีชื่อว่า ทีปายนกุมาร  เมื่อเรียนจบศิลปศาสตร์แขนงต่างๆ แล้ว ไม่ปรารถนาจะอยู่ครองเรือน จึงขนสมบัติที่มีอยู่ทั้งหมด ออกบริจาคเป็นทาน อำลาหมู่ญาติออกบวช แสวงหาทางเป็นเครื่องพ้นทุกข์ บำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่าหิมพานต์เป็นเวลานานถึง ๕๐ ปี วันหนึ่งดาบสได้ออกจากป่า เพื่อไปเสพรสเค็มรสเปรี้ยวในเมือง ท่านเที่ยวภิกขาจารไปตามสถานที่ต่างๆ จนไปถึงบ้านของเพื่อนที่เคยรู้จักกันมาตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้บวช ครอบครัวของเพื่อนได้ต้อนรับเป็นอย่างดี อุปัฏฐากไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
 
     วันหนึ่ง ลูกชายของเพื่อนชื่อ ยัญญทัตตกุมาร ถูกอสรพิษร้ายกัดไม่สามารถทนพิษได้จึงสลบไป พ่อแม่รู้ว่าลูกถูกอสรพิษกัด จึงรีบอุ้มลูกไปหาพระดาบสให้ช่วยเยียวยา โดยอ้อนวอนว่า “ท่านเจ้าข้า ธรรมดาบรรพชิต ย่อมจะรู้โอสถหรือธรรมปริตร ขอท่านได้โปรดช่วยบุตรของข้าพเจ้าให้หายด้วยเถิด” พระดาบสกล่าวว่า “เราไม่รู้โอสถ เราเป็นบรรพชิต ไม่ทำเวชกรรมรักษาโรค” เมื่อถูกอ้อนวอนหนักเข้า ท่านหลับตาทำภาวนาแผ่เมตตาจิตไปยังเด็กน้อยผู้เหลือแต่ลมหายใจที่แผ่วเบา เมื่อใจเป็นสมาธิ(Meditation)ดีแล้วก็วางมือลงบนศีรษะของเด็ก พลางตั้งทำสัจอธิษฐานว่า
 
     “เราเป็นผู้ต้องการบุญ มีจิตเลื่อมใสตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น ต่อจากนั้น แม้เราจะไม่มีความใคร่บรรพชา อยากลาสิกขากลับไปใช้ชีวิตในเพศคฤหัสถ์อยู่ทุกวัน แต่ก็ยังทนประพฤติพรหมจรรย์ได้ถึง ๕๐ ปี ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร ขอพิษจงคลายออก ให้เด็กรอดชีวิตเถิด” ทันใดนั้นเอง พิษในกายของเด็กไหลออกมา แล้วตกลงซึมหายไปในแผ่นดินส่วนหนึ่ง เมื่อเด็กน้อยรู้สึกตัว ลืมตาขึ้นมองดูผู้เป็นมารดาแล้วเรียก "แม่" เขาทำได้เพียงแค่พลิกตัว แต่ยังลุกขึ้นไม่ได้
 
     กัณหทีปายนดาบสบอกเพื่อนว่า “กำลังบุญของเราทำได้แค่นี้ ท่านจงทำด้วยกำลังของตนบ้างเถิด” เพื่อนได้ฟังคำแนะนำเช่นนั้น จึงวางมือบนหน้าอกของลูก ตั้งจิตอธิษฐานทำสัจกิริยาว่า “เพราะเหตุที่เราเห็นแขกที่มาถึงบ้านเพื่อจะพัก บางครั้งเราไม่พอใจจะให้พักเลย แม้สมณพราหมณ์ก็ไม่รู้ความไม่พอใจของเรา เพราะแม้เราไม่ประสงค์จะให้ แต่พยายามตัดใจให้ ด้วยเราเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ ด้วยความสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ยัญญทัตตกุมาร ขอพิษจงคลายออก ขอให้กุมารจงรอดชีวิตด้วยเถิด”
 
     เมื่อบิดาทำสัจกิริยาเช่นนี้แล้ว พิษในกายก็ไหลออกมาอีก ฝ่ายมารดาก็เช่นเดียวกัน ได้ตั้งสัจกิริยาด้วย เมื่อหมดพิษแล้ว ลูกชายสามารถลุกขึ้นพูดคุยกับพ่อแม่และหมู่ญาติที่มาห้อมล้อมได้เป็นปกติ เพื่อนของท่านดาบสถามด้วยความสงสัยว่า “นักพรตทั้งหลายเป็นผู้สงบระงับ ฝึกฝนตนดีแล้ว นอกจากท่านกัณหะ จะหาผู้ที่มีคุณธรรมเสมอเหมือนท่านนั้นยากยิ่งนัก ดูก่อนท่านกัณหทีปายนะ ท่านเกลียดชังอะไร จึงสู้ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้”
 
     ท่านดาบสเปิดเผยความในใจว่า “บุคคลออกบวชด้วยศรัทธาแล้ว กลับเข้าบ้านอีก เป็นคนเหลวไหล เป็นคนกลับกลอก เราเกลียดต่อถ้อยคำเช่นนี้ จึงสู้ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในฐานะที่วิญญูชนสรรเสริญ และเป็นฐานะของสัตบุรุษทั้งหลาย เพื่อนเอ๋ย เราเป็นผู้ทำบุญ ทนประพฤติพรหมจรรย์เพราะอาศัยหิริโอตตัปปะ”
 
     ท่านดาบสย้อนถามว่า “ท่านเลี้ยงดูสมณพราหมณ์ และคนเดินทาง ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวน้ำและภิกษาหาร บ้านของท่านบริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ เป็นเหมือนบ่อน้ำ ท่านคิดอย่างไรแม้ไม่ประสงค์จะให้ทาน ยังสามารถให้ทานด้วยความเคารพ” เพื่อนตอบว่า “บิดามารดาและปู่ย่าตายายของเรา เป็นคนมีศรัทธา เป็นทานบดี เราประพฤติตามธรรมเนียมของตระกูล ถ้าไม่ทำก็จะถูกตำหนิว่า เป็นคนทำลายธรรมเนียมของวงศ์ตระกูล เราเกลียดถ้อยคำเช่นนี้ ดังนั้นแม้ไม่ประสงค์จะให้ เราก็ให้ทานไม่เคยขาด”
 
     พระดาบสแนะนำเพื่อนว่า “เพื่อนเอ๋ย การที่ท่านหาทรัพย์ได้มาโดยลำบาก แล้วบริจาคทานโดยไม่มีศรัทธา เป็นสิ่งไม่สมควร แต่นี้ไป ท่านจงเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ให้ทานด้วยศรัทธาเถิด” เพื่อนก็รับคำ แล้วแนะนำท่านดาบสบ้างว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นเนื้อนาบุญของโลก แต่ไม่มีความยินดีประพฤติพรหมจรรย์ เป็นการไม่สมควรเช่นกัน ตั้งแต่นี้ไปขอท่านจงทำจิตให้เลื่อมใส ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์เถิด” จากนั้นสามีภรรยาพากันนมัสการลาท่านดาบสกลับไป ตั้งแต่นั้นมา พระดาบสโพธิสัตว์ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม จนสามารถทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด
 
     จะเห็นได้ว่า หิริโอตตัปปะสามารถรักษาคุณธรรมความดีให้ดำรงอยู่ได้ตลอดไป ถ้าหากมนุษย์ไม่มีหิริโอตตัปปะแล้ว โลกคงจะเกิดกลียุค มีความสับสนวุ่นวายมิใช่น้อย เพราะอาศัยสุกธรรมนี้ เราจึงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญ เมื่อสั่งสมหิริโอตตัปปะมากเข้า จะกลั่นตัวเราให้ได้เข้าถึงกายทิพย์อย่างง่ายดาย เพราะธรรมนี้เป็นเทวธรรม ที่จะทำให้ได้เป็นเทวดา  ดังนั้น ให้ทุกท่านมีหิริโอตตัปปะอยู่ในใจ หากจะทำสิ่งไม่ดีก็ให้นึกถึงตนเอง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาในภายหลังให้มากๆ ให้หมั่นทำใจหยุดใจนิ่งกันให้ได้ตลอดเวลา จนกว่าจะได้ที่พึ่งภายในคือพระธรรมกายกันทุกๆ คน

 
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๘๓๑
 

http://goo.gl/oOBtT


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - อานิสงส์ทำบุญทอดกฐิน
      หลุดพ้นจากสังสารวัฏ
      โสฬสญาณ
      เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ
      พระอรหันต์รู้ได้ยาก
      ความวิเศษสุดของพระพุทธศาสนา
      พระอรหันต์มีจริง
      พระอริยเจ้า
      ผลแห่งการชวนคนมารู้จักพระรัตนตรัย
      คนดีที่โลกต้องการ
      นักสร้างบารมีพันธุ์อาชาไนย
      เวสารัชชธรรม ๔
      ต้นแบบแห่งความดี




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related