ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 20

“ใครหนอเป็นผู้แนะนำธรรมะสั่งสอนพระองค์ ถ้อยคำอันสะอาดนี้ เป็นถ้อยคำของใคร ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เพราะข้าพระองค์มิเคยเห็นพระองค์ได้ตรัสกับสมณะผู้มีวัตรปฏิบัติก้าวล่วง ทุกข์ ซึ่งแนะนำหนทางสู่ความหลุดพ้นแก่พระองค์เลย” https://dmc.tv/a1010

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ทศชาติชาดก > พระมหาชนก
[ 1 ม.ค. 2550 ] - [ ผู้อ่าน : 18272 ]
 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 20

 
        จากตอนที่แล้ว นารทดาบสได้เหาะมาถวายโอวาทแด่พระโพธิสัตว์ เพื่อต้องการให้ทรงสมาทานมั่นในเพศบรรพชิต โดยถวายข้อคิดว่า  “พระองค์เพียงแต่ทรงเพศบรรพชิพ จะสำคัญว่า เราข้ามพ้นกิเลสแล้วหาได้ไม่ กรรมคือกิเลสนี้ ไม่ใช่ว่าจะพึงข้ามได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เพราะยังมีอันตรายอีกมาก” 

        นารทดาบสเมื่อจะบอกถึงสิ่งที่บรรพชิตควรสังวรระวัง จึงถวายคำแนะนำว่า “อันตรายเหล่านี้ยังมีอยู่ในพระองค์ คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน ความง่วงเหงา ความขัดเคืองใจ ความเมาอาหาร เมื่อพระองค์บรรทมหลับบ่อยๆ มัวตรึกถึงกามวิตก  พระหฤทัยก็จะไม่ยินดีในบรรพชา อันตรายจะบังเกิดแก่พระองค์อย่างนี้แล”

        พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำสอนอันเป็นมธุรวาจาของนารทดาบสแล้ว ก็ตรัสถามว่า  “ข้าแต่พระดาบสผู้เจริญ คำสอนของท่านช่างประเสริฐแท้  ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้า เหมือนมารดาสั่งสอนบุตรน้อย ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ”

        นารทดาบสจึงได้แนะนำให้ทรงรู้จักว่าท่านเป็นใคร แล้วได้ถวายโอวาทว่า “ขอพระองค์จงทรงยินดีในบรรพชา กิจอันใดยังพร่องอยู่ด้วยศีล ด้วยการบริกรรมและฌานสมาบัติ พระองค์จงทรงบำเพ็ญกิจอันนั้นให้บริบูรณ์  จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบ อย่าถือพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ จงประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความเคารพเถิด” กล่าวจบแล้วก็ลาจากไป

        ต่อมา ได้มีดาบสอีกตนหนึ่งชื่อมิคาชินะ เหาะมาเพื่อถวายโอวาทแก่พระโพธิสัตว์ ได้ทูลถามสาเหตุของการบวชว่า  “พระองค์ทรงละชาวพระนครเสด็จออกผนวช  เพราะเหตุที่ชาวพระนคร มิตรอำมาตย์และพระประยูรญาติ ได้กระทำความผิดต่อพระองค์หรืออย่างไร”

        พระโพธิสัตว์ได้ทรงแสดงเหตุผลของการออกผนวชว่า “ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้ามิได้มีปัญหาในเรื่องราชสมบัติ ไม่ได้มีราชภัยหรือทะเลาะกับหมู่ญาติคนใดเลย ญาติทั้งหลายต่างปรารถนาให้ข้าพเจ้าครองราชย์  ต่างก็มาอ้อนวอนให้เสด็จกลับทั้งสิ้น
 
        ...ข้าแต่ท่านมิคาชินะ  ข้าพเจ้าเห็นประเพณีของโลก เห็นโลกถูกกิเลสคุกคาม ทำให้เป็นไปตามวัฏฏะ เห็นชาวโลกถูกกิเลสย่ำยี ถูกกิเลสทำให้เป็นดังเปือกตม

        ...จึงได้ใช้ปัญญาเปรียบเทียบว่า ปุถุชนจมอยู่ในกิเลสเหล่าใด  สัตว์เป็นอันมากถูกประหารและถูกจองจำเพราะกิเลสเหล่านั้น แม้ข้าพเจ้าก็จักถูกฆ่า และถูกจองจำเหมือนสัตว์เหล่านั้น  เมื่อคิดฉะนี้แล้ว จึงได้บวชเป็นภิกษุ”

        มิคาชินะดาบสได้สดับธรรมภาษิตจากพระโพธิสัตว์แล้ว ก็รู้สึกชื่นชอบในปณิธานอันยิ่งใหญ่ ต้องการจะฟังเหตุผลนั้นโดยพิสดาร จึงได้ถามต่อไปว่า “ใครหนอเป็นผู้แนะนำธรรมะสั่งสอนพระองค์  ถ้อยคำอันสะอาดนี้ เป็นถ้อยคำของใคร  ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ  เพราะข้าพระองค์มิเคยเห็นพระองค์ได้ตรัสกับสมณะผู้มีวัตรปฏิบัติก้าวล่วงทุกข์ ซึ่งแนะนำหนทางสู่ความหลุดพ้นแก่พระองค์เลย”

        พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ถึงข้าพเจ้าจะเคารพสมณะ หรือพราหมณ์โดยส่วนเดียวก็จริง แต่ก็ไม่เคยไต่ถามสมณะเหล่านั้นเลย  ข้าพเจ้าเป็นผู้อุปัฏฐากบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ทรงธรรมอันยอดเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้ฟังธรรมะ ไม่เคยสนทนาธรรมจากผู้รู้เหล่านั้นเลย

        ...ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้านั้นรุ่งเรืองด้วยสิริ เข้าไปในพระราชอุทยานด้วยอานุภาพใหญ่  เมื่อเจ้าพนักงานกำลังขับเพลงและประโคมดนตรีกันอยู่ ข้าพเจ้าได้เห็นต้นมะม่วงซึ่งมีผลและไม่มีผล ต้นที่มีผลถูกคนเบียดเบียน จนปราศจากใบและก้าน แต่ต้นมะม่วงที่ไร้ผลกลับมีใบเขียวชอุ่มน่ารื่นรมย์”

        ...ข้าพเจ้าจึงคิดว่า “ศัตรูทั้งหลายจักฆ่าเราผู้มีอิสระ  เหมือนต้นมะม่วงที่มีผลถูกคนหักโค่น  เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์

        ...ใครเล่าจักฆ่าผู้ไม่มีเหย้าเรือน ผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยตัณหา  มะม่วงต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล  มะม่วงทั้งสองต้นนั้นเป็นผู้สั่งสอนข้าพเจ้า”

        มิคาชินดาบสได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็อนุโมทนา แล้วถวายโอวาทว่า “มหาบพิตร ขอพระองค์จงประพฤติพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม  จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด” 

        จากนั้นก็ได้แนะนำวัตรของผู้บำเพ็ญตบะให้ทราบอย่างละเอียด แล้วก็เหาะกลับไปที่พำนักของท่านดังเดิม

        เมื่อมิคาชินดาบสไปแล้ว พระนางสีวลีเทวีก็ตระหนักว่า พระโพธิสัตว์ทรงมีพระมนัสมุ่งมั่นต่อการบรรพชา คงไม่อาจทำให้พระองค์ทรงเลิกล้มปณิธานอย่างแน่นอน   จึงหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระโพธิสัตว์ กราบทูลว่า  “ข้าแต่มหาราชเจ้า มหาชนเกิดความหวั่นใจว่า พระราชาทรงผนวชเสียแล้ว  ขอพระองค์โปรดทำให้ประชุมชนอุ่นใจด้วยการอภิเษกพระโอรส คือ ทีฆาวุกุมารไว้ในราชสมบัติแล้ว จึงทรงผนวชต่อภายหลังเถิด”

        พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “ดูก่อนพระเทวี เราได้สละพสกนิกร มิตรอำมาตย์และพระประยูรญาติทั้งหลายแล้ว  ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมไม่มีบุตร กาลต่อไป ชาววิเทหรัฐจะเป็นผู้อภิเษกทีฆาวุกุมาร และทีฆาวุกุมารก็จะเป็นผู้บำรุงวิเทหรัฐให้เจริญรุ่งเรือง ขอพระนางจงเบาใจเถิด”

        พระมหาชนกโพธิสัตว์ทรงเบื่อหน่ายในราชสมบัติ ใคร่ที่จะพ้นไปแต่เพียงอย่างเดียว ประดุจบุรุษผู้อยู่ในเรือนจำมานาน ได้รับความทุกข์ทรมาน มิได้เกิดความยินดีในเรือนจำนั้นเลย มุ่งแสวงหาทางที่จะพ้นออกไปอย่างไม่อาลัยไยดี

        ภพทั้งสาม จึงปรากฏประดุจคุกกักขังสรรพสัตว์ที่ใหญ่ที่สุด แต่สัตว์โลกก็ยังคงหลงใหลยินดีและหลงยึดติดในสิ่งเหล่านั้น  ไม่คิดหาหนทางที่จะสลัดตนให้หลุดพ้นจากภพทั้งสามนี้ไป   การประพฤติพรหมจรรย์เป็นวิธีการสำคัญ ที่จะทำให้สรรพสัตว์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ และหลุดพ้นจากภพทั้งสามไปสู่อายตนนิพพานได้

        ดังนั้น ในระหว่างการสร้างบารมี หากชาติใดไม่ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะหาโอกาสปลีกวิเวก แสวงหาสถานที่อันสงัดปลอดจากผู้คน ด้วยการบวชเป็นดาบสหรือเป็นฤๅษี เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอย่างเต็มที่

        ส่วนพระนางสีวลีเทวีทรงเห็นว่า คงไม่อาจรั้งให้พระราชสวามีกลับไปครองราชย์ได้อีกแล้ว จึงได้ทูลถามพระโพธิสัตว์ต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์เมื่อพระองค์ออกผนวชแล้ว หม่อมฉันจะทำอย่างไรดี” 

        พระโพธิสัตว์ได้ตรัสแนะนำพระนางว่า “ดูก่อนพระเทวี เมื่อเธอให้พระโอรสครองราชย์แล้ว ก็อาจทำบาปอกุศลด้วยกาย วาจา และใจอีกเป็นอันมาก ซึ่งเป็นเหตุให้เธอไปสู่ทุคติ   แม้เธอเองก็ควรประพฤติธรรม เลี้ยงชีวิตด้วยก้อนข้าวที่คนอื่นมอบให้ ไม่ควรกลับไปเสวยเบญจกามคุณในราชสมบัติอีก”

        จากนั้นก็ทรงประทานโอวาทแก่พระนาง ให้รักในการประพฤติพรหมจรรย์  ยินดีใน นิรามิสสุข คือ สุขที่ไม่ต้องอาศัยคน สัตว์ สิ่งของหรือกามคุณ ให้ยิ่งกว่าสามิสสุข  จงเห็นแก่ประโยชน์ในโลกหน้าและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในสังสารวัฏ ให้ยิ่งกว่าประโยชน์ในปัจจุบัน 

        พระนางสีวลีเทวีเมื่อได้ฟังพระโอวาทของพระโพธิสัตว์ ว่าให้พระนางเว้นจากกามคุณ ให้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ในโลกหน้าให้ยิ่งกว่าประโยชน์ในปัจจุบัน ก็ค่อยๆ ทรงคลายความผูกพัน แต่พระนางจะทรงทำอย่างไรอีกนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 

http://goo.gl/dHJS9


พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 2 ต้นเหตุแห่งเภทภัย
      ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 1 การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 202
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 201
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 200
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 199
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 198
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 197
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 196
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 195
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 194
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 193
      ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 192




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related