ความรู้เกี่ยวกับการทำทาน

การทำบุญกับการทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ? อานิสงส์ในการทำบุญทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ? การทำบุญทำทานกับพระภิกษุ มนุษย์ และสัตว์ ได้อานิสงส์ต่างกันไหม ? https://dmc.tv/a21463

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ธรรมะสอนใจ
[ 25 พ.ค. 2559 ] - [ ผู้อ่าน : 18257 ]
ความรู้เกี่ยวกับการทำทาน

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ) (M.D.; Ph.D.)

จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
 

การทำบุญกับการทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
 
     ถ้ามองไปถึงที่สุดต้องถือว่าคล้าย ๆ กัน แต่ที่ใช้แยกเป็นทำบุญทำทาน เพราะเป็นนัยว่า ถ้าทำบุญจะเป็นการทำกับผู้ที่มีสถานะสูงกว่ามีคุณธรรมสูงกว่า เช่น ทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ส่วนการทำทานมีนัยในเชิงว่าเป็นการทำทานทั่วไป เห็นคนลำบากยากจนก็ไปช่วยกัน ก็เลยเรียกว่าเป็นการให้ทาน อย่างนี้เป็นต้น แต่จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นการให้กับใครก็ได้บุญ  ทั้งนั้น จะได้มากหรือน้อยแล้วแต่กรณี
 
อานิสงส์ในการทำบุญทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
 

     ถ้าหากจะทำบุญให้ได้บุญเยอะ จะทำทานให้ได้บุญมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าต้องประกอบด้วยบริสุทธิ์ ๓ ประการ คือ
 
     ๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือ ได้ทรัพย์มาด้วยความถูกต้อง ไม่ได้ทุจริตฉ้อโกงใครมา
 
     ๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือ ตัวเราเองทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ มีศรัทธาเต็มเปี่ยม
 
     ๓. บุคคลบริสุทธิ์ คือ บุคคลที่เราให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ยิ่งมีศีลมีคุณธรรมสูงเท่าใด เราก็ได้บุญมากไปตามส่วน
 
     ท่านจึงเปรียบพระภิกษุเหมือนเนื้อนาบุญ ใครทำนาบนเนื้อนาดีย่อมได้รับผลตอบแทนดี ข้าวก็ออกเต็มรวง ถ้าเป็นนาดอนแห้งแล้งไม่มีปุ๋ย ก็ได้ผลผลิตแค่นิด ๆ หน่อย ๆ ท่านเปรียบอย่างนั้น บริสุทธิ์ ๓ เมื่อไรได้บุญมาก
 
การทำทานด้วยเงินสิ่งของหรือใช้แรงกายช่วยงานพระพุทธศาสนาได้รับอานิสงส์ต่างกันอย่างไร ?
 
     ได้บุญทุกกรณี ไม่ว่าให้ทานเป็นสิ่งของหรือปัจจัยก็ได้บุญ เพราะว่าเสร็จแล้วท่านก็เอาไปจัดหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนามาใช้ได้ หรือเวลาเห็นวัดมีการก่อสร้าง เราเอาไม้เอาปูนไปช่วยก็ได้บุญ หรือจะถวายเป็นปัจจัยให้ท่านไปจัดหาอุปกรณ์มาดำเนินการก่อสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลา ก็ได้บุญเหมือนกัน แล้วแต่ความสะดวก เพียงแต่ในยุคหลัง ๆ รู้สึกว่า ถ้าเป็นปัจจัยก็ง่ายต่อการนำไปใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์
 
     บางกรณีซื้อถังสังฆทานไปถวายพระ ท่านรับมาแล้วก็เรียงอยู่ในกุฏิหลายถัง ไม่ได้แกะออกมาใช้ อย่างนี้บุญก็ยังได้อยู่ แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่เต็มที่ เพราะถวายสิ่งที่ท่านไม่ได้ใช้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นให้พิจารณาดูว่า เวลาถวายพระ ของที่ถวายควรเป็นของที่ท่านได้ใช้จริง ๆ ถ้าเราเอาแรงกายไปช่วยก็เป็นบุญอีกแบบ ที่เรียกว่า ไวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายการงานที่ชอบ ไม่มีเงินก็ช่วยด้วยกำลังกาย หรือบางทีต้องการสติปัญญา ความคิด อย่างนี้ถ้าไปช่วยเราก็ได้บุญ  
 
การทำบุญทำทานกับพระภิกษุ มนุษย์ และสัตว์ ได้อานิสงส์ต่างกันไหม ?
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักไว้ว่า การให้ทานจะได้บุญมากต้องประกอบด้วยบริสุทธิ์ ๓  ข้อ ๑ สมมุติว่าทรัพย์ที่เราได้มาเป็นทรัพย์ก้อนเดียวกัน อันนี้ถือว่าทุกคนได้บุญเท่ากัน ข้อ ๒ อยู่ที่ว่าก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ เรามีความเลื่อมใส ศรัทธาขนาดไหน เช่น ก่อนทำปลื้มอกปลื้มใจ มีปีติ มีศรัทธามาก เห็นประโยชน์ ตั้งใจทำบุญจริง ๆ ถ้าศรัทธาเหนียวแน่นมากอย่างนี้ได้บุญเยอะ ระหว่างถวายปลื้มปีติมาก หลังถวายนึกถึงบุญนี้ทีไรก็ชื่นใจ ไม่รู้สึกเสียดาย บางคนก่อนถวาย ระหว่างถวายรู้สึกปลื้ม แต่ถวายเสร็จแล้วมาคิดว่า เมื่อครู่ถวายมากไปหน่อย ถ้าถวายน้อยลงสักครึ่งหนึ่ง เราจะมีเงินเหลือมากขึ้น คิดอย่างนี้ต่อไปพอบุญส่งผลจะทำให้รวย แต่รวยแล้วจะเกิดความตระหนี่ ไม่อยากใช้ทรัพย์ เป็นเศรษฐีแต่ว่าต้องใส่เสื้อขาด ๆ หรือเวลาซื้อผลไม้ต้องซื้อแบบเน่าไปครึ่งลูก เวลากินต้องแอบกินไม่ให้ใครเห็น กลัวเขาจะขอ คือมีทรัพย์แต่ว่าใช้ทรัพย์ได้ไม่เต็มที่ เพราะความเสียดาย อีก ๑ ข้อ คือข้อ ๓ ผู้รับเป็นผู้ที่มีคุณธรรมมากเพียงใด ถ้ามีคุณธรรมมาก เวลาผู้รับนำสิ่งที่เราถวายไปบริโภคใช้สอย แล้วเอาเรี่ยวแรงกำลังที่เกิดขึ้นไปทำความดี เราก็ได้บุญมากไปตามส่วน ตัวตัดสินอยู่ตรงนี้
 

ถ้าให้เงินขอทานหรือคนยากจนแล้วเขาเอาไปทำในสิ่งที่ผิด เราจะมีส่วนในบาปกับคนเหล่านั้นหรือไม่ ?
 
     ตัวผู้ให้ไม่บาป แต่จะได้บุญแค่ไหนขึ้นอยู่ที่ผู้รับนำไปทำคุณประโยชน์หรือความดีมากแค่ไหน ต่างจากที่เราสนับสนุนให้เขานำเงินไปทำอะไรที่ไม่ถูก ไม่ดี

 
เห็นเด็กนั่งขอทานรู้สึกสงสาร แต่ไม่รู้ว่าเด็กถูกหลอกมาขอทานหรือเปล่า ถ้าเราไปช่วยจะผิดไหม ?
 

     ถ้าเราไม่สบายใจ อย่าทำ แต่ถ้าอยากทำ ให้ทำเลย ถ้าเรารู้สึกว่าเป็นแก๊งขอทานแน่ ไม่อยากให้ เพราะให้แล้วเหมือนสนับสนุนให้เขาเอาเด็กมาทรมาน อย่าให้ ถ้าให้โดยที่เราคิดอย่างนี้ มันเหมือนการสนับสนุน เราจะมีส่วนหน่อย ๆ แต่ถ้าเราไม่ได้คิดอย่างนี้ เราอยากจะช่วยเขาแล้ว เราก็ให้โดยใจเราไม่ได้คิดสงสัยอะไร อันนี้เราไม่มีส่วนในบาปใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเราให้ด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าเราเกิดความระแวงขึ้นมา ไม่ต้องให้
 

อยากถวายสังฆทานเป็นถัง ไปซื้อก็กลัวเป็นของเก่า ควรทำอย่างไรดี ?
 
     บางคนเวลาพูดถึงสังฆทานก็นึกถึงถังเลย ในนั้นมีผงซักฟอก มีผ้าไตรเล็ก ๆ สบงเล็ก ๆ มีอะไรต่าง ๆ นานา
 
     การถวายสังฆทานคือการถวายแด่สงฆ์โดยไม่เฉพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง มีพระมานั่งเรียงอาจจะ ๔ รูป ๙ รูป ก็แล้วแต่ ไปถึงแล้วนั่งตรงรูปไหน ก็ถวายรูปนั้น ถือว่าเป็นการถวายสงฆ์โดยภาพรวม แล้วแต่สงฆ์จะนำไปใช้อะไร สังฆทานจริง ๆ คืออย่างนี้  แต่บางครั้งคนไม่ค่อยรู้ธรรมเนียมพระ ไม่รู้จะเตรียมอะไรไปถวาย พอไปที่ร้านสังฆภัณฑ์เห็นถังสำเร็จรูป ก็รู้สึกว่ามันง่ายดี เลยซื้อไปถวายพระ
 
     แต่ความต่างอยู่ที่ว่า การถวายพระต่างจากการซื้อของมาใช้เอง ถ้าซื้อมาใช้เอง ได้ของไม่ดี เราไปต่อว่าเขาได้ แต่การถวายของพระเป็นสิ่งที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ถวายเสร็จพระเปิดดูอาจจะเจอนมบูด หรือผ้าสบงผืนนิดเดียว สามเณรยังใส่ไม่ได้เลย เพราะคนขายต้องการกำไรมาก ๆ เลยตัดผืนเล็กนิดเดียว ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ กรณีอย่างนี้ถ้าหากเราเตรียมเครื่องสังฆทานเองได้ก็ดี ถ้าถวายเป็นอาหารให้ถวายก่อนเพล แต่ถ้าเป็นเครื่องดื่ม น้ำปานะ ถวายหลังเพลพอได้ พวกของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอกอะไรต่าง ๆ ก็ถวายได้  
 
การถวายสังฆทานพระต้องครบ ๔ รูปไหม ?
 
     ต้องมี ๔ รูปขึ้นไปจึงจะนับว่าเป็นสงฆ์ แต่การที่เราไปถวายสังฆทาน เราถือว่าพระท่านเป็นตัวแทนมา จะมารับรูปเดียวเราก็ถวายได้ไม่เป็นไร
 
นอกจากการกรวดน้ำ มีวิธีไหนที่จะอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับได้อีกบ้าง ?
 
     การกรวดน้ำเวลาอุทิศส่วนกุศลนั้นเป็นอุบายอย่างหนึ่ง เพราะคนทั่วไปไม่ค่อยได้ฝึกสมาธิ ถึงคราวอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนเครื่องส่งที่สัญญาณไม่ค่อยแรง แต่ถ้าใจใครเป็นสมาธิ เวลาส่งบุญไปมันจะแรง จึงมีอุบายเอาน้ำมากรวด จะได้อาศัยจังหวะที่น้ำรินไหลช่วยให้ใจจดจ่อ ไม่คิดฟุ้งซ่าน พอใจเป็นสมาธิเครื่องส่งก็จะแรงขึ้น บุญจะได้ส่งไปเต็มที่มากขึ้น
 
     แต่บางคนนึกว่าบุญมาจากสายน้ำที่ไหล เลยเอามือไปจ่อ ความจริงที่เขาเอานิ้วไปจ่อก็เพราะว่า เวลาเทน้ำมันย้อยก้น เลยเอานิ้วไปจ่อที่ปากแก้ว น้ำจะได้ไหลตามนิ้วมือลงไป ไม่หกเลอะเทอะ ถ้ามีที่กรวดน้ำเป็นกิจจะลักษณะ เช่น เป็นโถที่เทแล้วไม่ย้อยก้น ก็เทลงไปได้เลย แล้วจังหวะที่น้ำไหลก็เอาใจจดจ่อที่น้ำ จะช่วยให้เป็นสมาธิได้ในระดับหนึ่ง แม้ในช่วงสั้น ๆ ก็ตาม จะได้ส่งบุญไปด้วยกำลังที่แรงขึ้น
 
     แต่ถ้าคนที่เคยฝึกสมาธิมา ถึงแม้ไม่ได้กรวดน้ำก็ส่งบุญได้ สมมุติว่าไปกัน ๒๐ - ๓๐ คน มีตัวแทนกรวดน้ำสักคนหนึ่ง คนอื่นพนมมือรับพร แล้วทำใจเป็นสมาธิ นึกให้บุญกุศลที่เกิดขึ้นไปถึงหมู่ญาติที่ละโลกไปแล้ว
 

 
ตอนกรวดน้ำต้องมีบทสวดอะไรหรือเปล่า ?
 
     ไม่จำเป็น บทสวดอิมินา สักกาเรนะ...ที่เป็นบทกรวดน้ำ เป็นอุบายช่วยคนที่ยังไม่เคยฝึกสมาธิให้มีสมาธิมากขึ้น จะได้ส่งบุญไปได้แรงขึ้นเท่านั้น แล้วถือเป็นธรรมเนียมต่อ ๆ กันมา แต่ถ้าเราเคยฝึกสมาธิอยู่แล้ว หลักจริง ๆ คือให้นึกถึงผู้ที่เราจะอุทิศบุญไปให้ ให้นึกถึงเขาใส ๆ ที่กลางท้องของเรา อย่างนี้บุญแรงที่สุด อุทิศให้ผู้ที่ละโลกไปแล้วได้ บุญส่งได้เต็มที่ยิ่งกว่าการกรวดน้ำเสียอีก
 
     ถ้าเรากรวดน้ำไปให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่จะถึงไหม ไม่ถึง กรวดให้ได้แต่ผู้ที่ละโลกไปแล้วและอยู่ในภพภูมิที่เหมาะสม ถ้าตกมหานรกขุมลึก ๆ ไม่ถึงเหมือนกัน แต่บุญจะไปรออยู่ พ้นกรรมจากมหานรกขึ้นมาเกิดในยมโลกเมื่อไร บุญจึงจะไปถึง แต่ถ้าไปเกิดเป็นเปรตบางประเภท หรือเป็นเทวดา บุญไปถึง ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบุญไปไม่ถึง
 
     แล้วถ้าผู้มีพระคุณของเรายังมีชีวิตอยู่ เราอยากให้ท่านได้บุญด้วย ต้องทำอย่างไร ให้บอกท่านว่า เราไปทำบุญอย่างนี้ ๆ มา แล้วให้ท่านอนุโมทนา ถ้าท่านอนุโมทนา ท่านก็ได้บุญด้วย เป็นปัตตานุโมทนามัย จะส่งบุญให้มนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องบอกให้เขาอนุโมทนา ส่วนการกรวดน้ำกรวดให้ผู้ที่ละโลกไปแล้ว
 
การอุทิศบุญให้คนอื่นทำให้บุญเราหมดไหม ?
 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่าทางมาแห่งบุญ โดยย่อมี ๓ ข้อ คือ ทาน ศีล ภาวนา ถ้าขยายละเอียดขึ้นมี ๑๐ ข้อ หนึ่งในนั้นคือปัตติทานมัย (บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศล) ถามว่าทำอย่างนี้แล้วบุญหมดไหม ไม่หมด เพราะการอุทิศส่วนกุศลเป็นทางมาแห่งบุญอย่างหนึ่ง เหมือนใครมีเทียนอยู่เล่มหนึ่ง ยิ่งจุดต่อกันไปก็ยิ่งสว่างขึ้นทั่วถึงกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวเรื่องนี้ ให้ใจเรามีเมตตาจิต แล้วอุทิศส่วนบุญนี้ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ฝึกให้เป็นนิจ แล้วเราจะเป็นคนที่ไม่มีเวรไม่มีภัยต่อใคร  
 
การชวนคนทำบุญได้อานิสงส์อย่างไร ?
 
     จะเป็นอานิสงส์ติดตัวไปเลยว่า ต่อไปถ้าเรามีทรัพย์แล้วจะไม่มีทรัพย์แบบโดดเดี่ยว แต่จะมีเพื่อนฝูงคนรู้จักที่เป็นคนดีมีทรัพย์ตามไปด้วย    คนที่ทำบุญคนเดียวไม่ชวนใคร ต่อไปจะรวยแต่ไม่มีเพื่อน คนบางคนชอบชวนคนอื่นเขาทั่วไปหมด แต่ตัวเองไม่ทำ ต่อไปจะมีเพื่อนมหาเศรษฐีเป็นใหญ่เป็นโตมากมาย ตัวเองไม่รวย แต่ภูมิใจว่ามีเพื่อนรวย บางคนทั้งไม่ชวนใคร แล้วตัวเองก็ไม่ทำด้วย แถมใครมาชวนยังว่าเขาอีก ถ้าอย่างนี้
 
     ต่อไปจะจน เพื่อนฝูงก็ไม่มี ถ้ามีก็มีแต่เพื่อนจน ๆ แต่คนไหนทำบุญด้วยตัวเองด้วย ชวนคนอื่น    ทำด้วย ต่อไปจะมีทรัพย์มาก มีชื่อเสียงเกียรติยศ ทุกคนยอมรับ แล้วพรรคพวกเพื่อนฝูงทุกคนมีพาวเวอร์หมดเลย จะเป็นสมาคมมหาเศรษฐี  ทำอะไรสำเร็จหมด เพราะมีเครือข่ายเพื่อนฝูงเกื้อหนุนกัน อะไรก็ง่ายไปหมด ฉะนั้นทำความดีอย่าทำคนเดียว ให้ชวนคนอื่นทำกันเยอะ ๆ ด้วย
 
วิธีไปบอกบุญต้องทำอย่างไร ?
 
     คนที่เขาชวนเพื่อนไปดื่มสุรา เขาเกรงใจไหม ชวนไปดื่มสุราต้องจ่ายเงิน สุขภาพก็เสีย ครอบครัวก็มีปัญหา ที่จริงควรจะเกรงใจ กลับไม่เกรงใจ แต่การชวนกันไปทำความดี ทำแล้วได้บุญกุศลติดตัวไป ตายแล้วยังเอาติดตัวไปได้อีกแบบนี้กลับเกรงใจ เคอะ ๆ เขิน ๆ อย่าไปเกรงใจ ให้ชวนเต็มที่ ตอนนี้สังคมกลับตาลปัตร ชวนกันไปเที่ยว ไปดื่มสุรา ไม่เกรงใจ แต่ชวนทำความดี เกรงใจ ทำให้ทุกอย่างเริ่มเป๋ สังคมเลยแย่ ฉะนั้นเราต้องกลับให้มาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ชวนทำดีต้องกล้าชวนเสียงดัง ชวนทำสิ่งไม่ดี ต้องให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ อย่างนี้แล้วสังคมจะสงบร่มเย็น ศีลธรรมจะกลับคืนมาสู่โลก
 
เวลาชวนคนทำบุญ ทำความดี เขามักจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ควรทำอย่างไร ?

 
      ถ้าเขาไม่มีเวลาจริง ๆ ก็ฝากมาทำได้ แต่มีข้อคิดนิดหนึ่ง คือปัจจุบันแต่ละคนรู้สึกว่าตัวเองงานยุ่งทั้งนั้น แต่เชื่อไหมคนที่ว่ายุ่ง ๆ ถ้าเขาชอบคอนเสิร์ต แล้วมีคอนเสิร์ตดัง ๆ มา เขาบอกพอมีเวลาดู อย่างพวกแฟนฟุตบอล เวลามีฟุตบอลโลกทีไรไม่ค่อยมีปัญหา ตี ๑ ก็ดูได้ ตี ๓ ก็ดูได้ อยู่ที่ว่าเขาเห็นความสำคัญหรือเปล่า คนเราถ้าเห็นความสำคัญของอะไร จะมีเวลาให้สิ่งนั้น และแต่ละคนจะสามารถจัดสรรตัวเองได้ แล้วถ้าเขาจัดสรรเวลาให้กับบุญกุศล มาทำความดี สวดมนต์ นั่งสมาธิ เขาจะพบว่า ชีวิตเขาเป็นระเบียบมากขึ้น แล้วเวลาในชีวิตที่มีอยู่จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคุณภาพชีวิตดีขึ้น คุณภาพของการใช้เวลาดีขึ้น
 




พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ชวนต่างชาติให้สนใจ ทาน ศีล ภาวนา
      อยากผอม
      บุญกับวาสนา
      เกิดเป็นขอทาน
      คิด พูด ทำ อย่างไหนบาปที่สุด
      คิดในกรอบกับคิดนอกกรอบ
      วิบากกรรมกระดูกพรุน
      เด็กชอบกัดเล็บ
      นอนกัดฟัน
      ชีวิตที่คุ้มค่า
      ดาราซึมเศร้า
      กำลังใจในหน่วยงาน
      ดูแลพระอรหันต์ในบ้าน




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related