การดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้เหมาะสมแก่การฝึกสมาธิและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธรรม

ร่างกายของเรานี้ประกอบด้วยธาตุสี่ที่ไม่บริสุทธิ์จึงเสื่อมสลายตลอดเวลา ทำให้ต้องหา ธาตุสี่จากภายนอกมาเติมเข้าไปอยู่เรื่อย ๆ ไม่มีสิ้นสุด ดังที่เราต้องประกอบกรรมต่าง ๆ เพื่อการเติมธาตุสี่ แต่กายนั้นก็ทำกรรมตามที่ใจของเราเป็นตัวสั่งการ ส่วนของใจทำหน้าที่รู้และคิด ส่วนของกายพูดและทำ https://dmc.tv/a21430

บทความธรรมะ Dhamma Articles > หลวงพ่อตอบปัญหา
[ 14 พ.ค. 2559 ] - [ ผู้อ่าน : 18258 ]

ธรรมะ

สมาธิ
 
เราควรปฏิบัติตนอย่างไรในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ
ให้เหมาะสมแก่การฝึกสมาธิและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงธรรม?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘
 

    ร่างกายของเรานี้ประกอบด้วยธาตุสี่ที่ไม่บริสุทธิ์จึงเสื่อมสลายตลอดเวลา ทำให้ต้องหา ธาตุสี่จากภายนอกมาเติมเข้าไปอยู่เรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด ดังที่เราต้องประกอบกรรมต่างๆ เพื่อการเติมธาตุสี่ แต่กายนั้นก็ทำกรรมตามที่ใจของเราเป็นตัวสั่งการ ส่วนของใจทำหน้าที่รู้และคิด ส่วนของกายพูดและทำ

    กายที่ไม่บริสุทธิ์เกิดจากใจที่ไม่บริสุทธิ์ ใจนั้นเป็นธาตุรู้ เป็นธาตุละเอียด มีที่อยู่ภายในกาย ทำหน้าที่เห็น จำ คิด รู้ ถูกกิเลสซึ่งเป็นธาตุละเอียดที่สกปรกแทรกอยู่ในใจ ทำให้ใจไม่บริสุทธิ์ การเห็น จำ คิด รู้ของใจจึงไม่ชัดแจ่ม จึงไม่ถูกต้องไปตามความเป็นจริง เพราะถูกกิเลสบดบัง

    เมื่อใจตกอยู่ในอำนาจกิเลส ใจจึงคิดผิด สั่งให้กายพูดผิด ๆ และทำผิด ๆ กายจึงไม่บริสุทธิ์ไปตามใจที่ไม่บริสุทธิ์

    มนุษย์เราสามารถที่จะแก้ไขใจที่ไม่บริสุทธิ์ด้วยกิเลส ให้กลับคืนมาบริสุทธิ์และหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ด้วย “ธรรม” ซึ่งมีอยู่แล้วภายในกายของมนุษย์ทุกคน

    “ธรรม” เป็นธรรมชาติที่สะอาด บริสุทธิ์ สว่าง มีอยู่ในตัวเราทุกคน เมื่อใดที่ใจของเรา เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมเหมือนไข่แดงรวมอยู่ในกลางไข่ขาว ธรรมอันบริสุทธิ์จะ กลั่นกรองใจให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นเป็นลำดับ ๆ จนกระทั่งกิเลสหลุดร่อน ไม่สามารถมีอำนาจบดบังใจได้อีกต่อไป การเห็น จำ คิด รู้ของใจก็จะชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นไปตามความบริสุทธิ์ที่เพิ่มขึ้นนั้น ใจก็จะเห็นถูก เมื่อคิดก็คิดได้ถูกต้อง จึงสั่งกายให้พูดและทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นบุญกุศลมากขึ้น กายก็บริสุทธิ์ขึ้นไปตามใจที่บริสุทธิ์

    ใจของเราจะเข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมภายในได้ด้วยวิธีการเดียวเท่านั้น คือ “การทำสมาธิ” โดยเอากายของเรามานั่งอยู่ในท่าขัดสมาธิด้วยอิริยาบถที่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ประคองใจที่แล่นไปในที่ต่าง ๆ ให้กลับเข้ามาอยู่ในตัว โดยใช้บริกรรมคาถา “สัมมา อะระหัง” และ/หรือบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส ๆ องค์พระใส ๆ เพื่อให้ใจมีที่ยึดที่เกาะ ประคองใจให้มาหยุดมานิ่งได้ง่าย เมื่อใจหยุดนิ่ง ใจจะกลับมาอยู่ในฐานที่ตั้งดั้งเดิมของใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กึ่งกลางลำตัวเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ

    เมื่อใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดีแล้ว จะมีแรงดึงดูดใจให้ตกมาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ซึ่งอยู่กึ่งกลางลำตัวในระดับเดียวกับสะดือของเรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของธรรมภายใน

    เมื่อใจเข้าถึงธรรม ความสว่างภายในก็เกิด การเห็นด้วยใจก็เกิด ความสุขภายในจากใจ หยุดนิ่งก็เกิด ใจที่ประกอบด้วยธรรมจะกลับขึ้นมาสู่ที่ตั้งของใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใหม่ เมื่อใจขยายออกไป ใจจะตกศูนย์ใหม่ เข้าถึงธรรมดวงใหม่ที่สะอาดบริสุทธิ์เข้าไปอีกเป็นลำดับ ๆ จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายภายในตน

    ใจที่ไม่บริสุทธิ์เป็นไปตามอำนาจของกิเลสจะถูกกลั่นถูกกรองด้วยธรรมภายในให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นเป็นลำดับ ๆ อุปมาดังเครื่องกรองน้ำที่กรองเอาสิ่งสกปรกออกไป น้ำต้องผ่านการกรองด้วยเครื่องกรองหลาย ๆ เครื่อง ด้วยความละเอียดที่ต่างกัน ในที่สุดก็ได้น้ำสะอาดมาดื่มกินฉันใด  ใจก็เช่นเดียวกัน ด้วยอำนาจความสะอาดบริสุทธิ์ของธรรมที่ละเอียดเข้าไปเป็นชั้น ๆ จะกลั่นกรองใจให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้น ส่งผลให้การคิดของใจ การพูด การกระทำของกายดีขึ้นเรื่อย ๆ นำความสุขกายความสบายใจมาสู่เจ้าตัว ส่งผลกระทบที่ดีต่อบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม

    ความสุข ความบริสุทธิ์ของกายและใจเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการเดียวเท่านั้น คือการทำสมาธิ และตนเองเท่านั้นที่จะฝึกใจของตนได้ ไม่มีใครช่วยใครได้ ไม่มีใครทำแทนกันได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจึงทรงชี้แนะบอกทางให้ แต่ผู้นั้นต้องเป็นผู้ปฏิบัติเอง จึงจะเห็นผลได้เอง

    สมาธิจึงเป็นเรื่องสำคัญของทุก ๆ ชีวิต ที่ทุกคนควรได้ฝึกทำทุกวันให้ต่อเนื่องตลอดชีวิต การเข้าถึงธรรมแม้เพียงเล็กน้อยยังนำความสุขมาให้มากมาย ถ้ามนุษย์รักตัวเองเป็น ก็จะรักความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม มีความเพียรพยายามไม่ลดละเพื่อการเข้าถึงธรรมภายในที่มั่นคงถาวร ภพชาติใดภพชาติหนึ่งเมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยม ก็จะสามารถเข้าถึงธรรมภายในได้สมบูรณ์ กำจัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน กิเลสสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดไป

    ในระหว่างที่เรากำลังฝึกทำสมาธิไปนั้น เราต้องดูแลกายนี้ให้เป็นปกติดี ไม่เป็นอุปสรรค ต่อการปฏิบัติธรรม พระพุทธองค์ทรงเตือนให้มีความสำรวมระวังกาย วาจา และการประกอบอาชีพให้ดี เพราะเรายังต้องอาศัยกายอันประกอบด้วยธาตุ ๔ ไม่บริสุทธิ์นี้ ซึ่งมีแต่วันเสื่อมสลายไป หากสำรวมระวังได้ดี เซลล์ต่าง ๆ ก็มีอัตราการตายน้อยลง สุขภาพก็จะแข็งแรง อายุขัยก็ยืนยาวได้

    การดูแลรักษากายเพื่อการทำสมาธิด้วย ๓ เรื่องนี้ ได้แก่ การสำรวมระวังกาย วาจา และ อาชีพ หากมองให้ลึกแล้ว เราจะเห็นว่านั่นคือการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ พร้อมเสร็จไปในตัว เพราะกว่าที่เราจะสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ดี เราต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีก การเห็นถูกเข้าใจถูกจึงจะเกิดขึ้น เราจึงคิดถูกว่าควรจะทำอะไร อย่างไร จึงออกมาเป็นคำพูด การกระทำการประกอบอาชีพถูก และทั้งหมดนี้ต้องล้มลุกคลุกคลาน พยายามแล้วพยายามอีกเพื่อปรับปรุงแก้ไขทำให้ดีขึ้น ซึ่งต้องอาศัยสติเป็นอย่างมากจึงจะพัฒนาขึ้น  

    เมื่อสติมีกำลังมาก ใจก็เป็นสมาธิได้เร็วได้ดีขึ้น การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ จึงเกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันของเรารอบแล้วรอบเล่า จนกว่าใจจะหยุดนิ่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน เป็นการดำเนินชีวิตตามเส้นทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้

    การสำรวมระวังกาย วาจา อาชีพนั้น เรื่องสำคัญก็อยู่ที่การเติมหรือการรับธาตุ ๔ เข้าไป ในตัวให้ถูกต้องเหมาะสมนั่นเอง พระพุทธองค์ทรงเตือนไว้ประการหนึ่งคือ ให้ระวังรู้ตัว เวลารับประทานอาหาร อีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ให้หยุด

    เพราะความจริงคือ อาหารนั้นพอกับความต้องการของร่างกายแล้ว แต่ที่ยังไม่รู้สึกว่าอิ่มในทันที เพราะอาหารส่วนสุดท้ายยังไม่ตกถึงกระเพาะอาหาร กำลังเดินทางอยู่ในหลอดอาหาร เมื่อเราดื่มน้ำตามเข้าไปอีกครึ่งแก้ว อาหารก็จะไปถึงกระเพาะอาหาร เราจะรู้สึกว่าอิ่มพอดี

    ถ้าทำได้จะแก้ไขอุปสรรคในการฝึกสมาธิไปได้ คือ ขจัดความง่วงในระหว่างการนั่งสมาธิ และการฝึกสมาธิจะต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องลุกออกไปปัสสาวะในระหว่างการนั่งสมาธิ

    อีกข้อสำคัญคือ การจะฝึกใจได้ต้องฝึกห้ามใจในเรื่องง่าย ๆ ก่อน คือ เรื่องการกิน รู้ตัวว่าอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ให้หยุดได้แล้ว ซึ่งในจังหวะนั้นเรามักจะกำลังเพลิดเพลินกับรสอร่อยของอาหารอยู่ การหยุดให้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และต้องอาศัยความเพียรพยายามให้สามารถทำเป็นนิสัยหยุดได้ทุกมื้ออาหาร

    ขอให้รับรู้และตระหนักว่า มนุษย์ทุกคนสามารถแก้ไขใจให้กลับมาบริสุทธิ์ได้ด้วยการฝึกสมาธิเพื่อให้ใจเข้าถึงธรรม เพราะมนุษย์นั้นนอกจากประกอบด้วยกายและใจแล้ว มนุษย์ยังมีธรรมที่รักษาความเป็นมนุษย์ไว้ หากสามารถรักษาใจให้อยู่กับธรรมได้ มนุษย์ก็จะคิด พูด ทำแต่ในทางที่ถูกต้องชอบธรรม พ้นจากอำนาจของกิเลสได้




พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทำอย่างไรจึงจะไม่ท้อไม่เหนื่อยในการทำงาน
      สาเหตุที่ทำให้โลกวุ่นวายมากขึ้น
      "สังคมเปลี่ยนไป" แนวทางการใช้ชีวิตเปลี่ยนตามพระพุทธศาสนามีคำแนะนำอย่างไร ?
      หลักการขยายกิจการให้เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม
      คำสอนของวัดพระธรรมกายถูกต้องตามแนวทางคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาหรือไม่
      อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมแตกแยก
      การสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไร
      ทำไม ? จีวรต้องเป็นสีเหลือง
      เราจะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างไร ?
      เราจะปลูกฝังให้ลูกหลานทำหน้าที่ชาวพุทธให้สมบูรณ์ได้อย่างไร ?
      เราควรจะเลือกทำงานด้วยทัศนคติอย่างไรที่จะส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง
      การเกิดขึ้นของนิสัยดี นิสัยชั่วมีที่มาอย่างไร




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related