เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม

เวลาข้าวยากหมากแพง ควรทำอย่างไรดี ? สำหรับคนที่ทำบัญชีและประหยัดทุกอย่างแล้วแต่ยังเครียดเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ จะต้องทำอย่างไร?.... https://dmc.tv/a21907

บทความธรรมะ Dhamma Articles > ข้อคิดรอบตัว
[ 30 ก.ย. 2559 ] - [ ผู้อ่าน : 18256 ]
เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม
 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑโฒ)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

เวลาข้าวยากหมากแพง ควรทำอย่างไรดี ?

     เรื่องนี้อยากจะฝากข้อคิดไว้ ๒ ประการ ประการแรก ในวิกฤตทุกครั้งมีโอกาส ยิ่งวิกฤตใหญ่ยิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นมาก เพราะฉะนั้นเวลามองอะไรอย่ามองทางลบอย่างเดียว ทางบวกโอกาสก็รอเราอยู่ รอผู้ที่มีปัญญา มีความวิริยอุตสาหะเพียงพอที่จะได้โอกาสนั้น ประการที่ ๒ ถ้าบอกว่าอะไร ๆ ก็แพง แต่รายรับไม่เพิ่มขึ้น ตรงนี้อยากให้ดูว่ามีรายรับแล้วมีรายรั่วไหม เปรียบเหมือนเวลาเราใช้ขันตักน้ำ ถ้าขันใบไม่โตเท่าไร เวลาตักก็ได้น้ำมาหนึ่งขัน แต่ถ้าเอาชะลอมไปตัก ตอนแช่น้ำอยู่มีน้ำเต็มชะลอม แต่พอยกขึ้นมาเหลือติดชะลอมอยู่ไม่กี่หยด

     เช่นเดียวกับคนเราที่รายรับอาจไม่สูงมากนัก แต่ถ้าไม่รั่วไหลไปในทางที่ไม่ควร เราจะใช้รายรับได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สามารถดำรงชีวิตไปได้ บางคนเดือนหนึ่งอาจได้เป็นแสน แต่ถ้าปล่อยให้รั่วไหลไปในทางที่ไม่ควรเสีย อย่างเช่นไปเล่นการพนัน แบบนี้อย่าว่าแต่เงินเดือนเป็นแสนเลย เดือนละล้านก็หมด ถ้าเศรษฐกิจตึงตัวขึ้นมา อยากให้เราสำรวจว่า รายจ่ายของเราที่ออกไปนั้น เราจ่ายในสิ่งที่ควรจ่ายไหม
มีสิ่งที่เราเสียในส่วนที่ไม่ควรเสียหรือเปล่า

     ถามว่าจะทำอย่างไรดี วิธีการที่ดีคือ ให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนทำบัญชี เขียนเลยว่าแต่ละวัน ใช้จ่ายอะไรบ้าง จดทุกอย่างที่เราจ่ายออกไป แล้วมานั่งดูว่าอันไหนควรจ่าย อันไหนไม่ควรจ่าย เชื่อไหมว่าแค่ทำบัญชีอย่างเดียว ซึ่งอาจใช้เวลาแค่ ๒-๓ นาทีเท่านั้น เวลาผ่านไปเพียงแค่หนึ่งเดือน เราจะประหยัดอะไรได้อีกมากมาย โดยที่ไม่ต้องฝืนตัวเองมาก พอเห็นบัญชีจะรู้ว่า เราจ่ายค่าเหล้าไปตั้งขนาดนี้หรือ  ค่าบุหรี่ขนาดนี้หรือ ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน ดังนั้นขอให้เราจดบัญชีเพื่อตรวจสอบตัวเอง แล้ววินัยทางด้านการเงินจะเกิดขึ้น ทั้งบ้านจะประหยัดเงินได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ แล้วมั่นใจได้ว่า ภาวะรายรับไม่พอรายจ่ายจะหายไป และอาจมีเงินเก็บได้ด้วย แล้วเงินเก็บก็จะเป็นทุนในการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าในชีวิต นี้คือวิธีใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤตทางเศรษฐกิจให้เป็นประโยชน์

สำหรับคนที่ทำบัญชีและประหยัดทุกอย่างแล้วแต่ยังเครียดเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ จะต้องทำอย่างไร ?

     ควรเพิ่มรายรับ ในขณะเดียวกันถ้ารู้จักหลักการทำสมาธิ ทุกอย่างในชีวิตจะเป็นไปแบบเย็น ๆ สบาย ๆ  เพราะความเครียดของคนส่วนมาก บางทีไม่ได้เกิดจากปัญหาเดียว บางคนบอกว่าของแพง เศรษฐกิจไม่ดี เลยรู้สึกเครียด แต่พอดูเข้าจริงๆ อาจเกิดจากปัญหาต่างๆ บวกเข้าไปด้วย เช่น ปัญหาลูก ปัญหาครอบครัว ฯลฯ ทำให้เครียดหนักกว่าเดิม แต่จะพูดเรื่องครอบครัวกับคนอื่นก็พูดไม่ถนัด เลยโยนไปที่ปัญหาเศรษฐกิจแทน อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน เอาเป็นว่าถ้าในบ้านสงบร่มเย็น อย่างอื่นก็ไม่มีปัญหา เรื่องเศรษฐกิจเป็นแค่ปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นประเด็นหลักจริง ๆ คือ ต้องรู้จักใจของเราดังคำที่ว่า สุขทุกข์อยู่ที่ใจ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ถ้าใจนิ่ง เราจะผ่านทุกอย่างไปได้อย่างเย็นๆ และสบาย ๆ และจะใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ แล้วทุกอย่างในชีวิตจะดีขึ้น
 
คำว่า “ข้าวยากหมากแพง” เกิดขึ้นในยุคไหน? มีวิธีแก้ไขอย่างไร ?

     ประการแรก ในอดีตถ้าเมื่อใดเกิดภัยขึ้นมาในบ้านเมืองในรูปแบบต่าง ๆ อาจจะเป็นทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง หรือเกิดโรคระบาดขึ้นก็ตาม ทุกคนจะนุ่งขาว ห่มขาว ถือศีล ตั้งใจสวดมนต์ทำภาวนา เพราะเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เกิดเพราะคนในสังคมทำบาปกรรมมากขึ้น ๆ กำลังบาปของทุกคนรวมกันเข้า เลยไปดึงสิ่งที่ไม่ดีเข้ามา เป็นสิ่งที่เตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้คนในสังคมจะต้องหันมาทำความดี แล้วความดีที่ทุกคนทำรวมกันจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ภาวะต่างๆ จะคลี่คลายไปในทางที่ดี ซึ่งเราต้องหันมามองว่า ถึงเวลาหรือยังที่สังคมโลก สังคมไทย ต้องหันมาศึกษาธรรมะและประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นเหตุการณ์จะแย่ลง

     ประการที่ ๒ คือวิธีการแก้ไข อยากจะยกสองโมเดลเปรียบเทียบกัน คืออเมริกากับจีน ในอเมริกาพอเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ วิธีแก้ปัญหาของรัฐบาลอเมริกันเป็นสูตรสำเร็จ คือ การลดภาษีอัดฉีดเงินเข้าไปสู่ประชาชน พอลดภาษี ประชาชนรู้สึกว่ามีเงินในมือเพิ่มขึ้น ก็จะเกิดความเชื่อมั่นและใช้จ่าย  มากขึ้น พอมีการบริโภคก็ทำให้เกิดการผลิต วงจรเศรษฐกิจก็จะมีการเคลื่อนตัว เขาบอกว่า ถ้าน้ำนิ่งมันจะเน่า ถ้าน้ำเคลื่อนไหวมันจะเกิดพัฒนาการ เศรษฐกิจก็เหมือนกัน ถ้าเงินนิ่งเศรษฐกิจจะชะงักงัน แต่ถ้าเกิดการใช้จ่าย เกิดการบริโภค ก็จะเกิดการ ผลิต เศรษฐกิจจะก้าวหน้า

     ในประเทศจีน การแก้ปัญหาเป็นอีกแนวหนึ่ง คนจีนพอหาเงินได้แล้ว เขาจะเก็บ อะไรไม่ควรใช้ก็พยายามไม่ใช้ เขาบอกว่าอัตราเงินออมของคนจีนเกือบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของรายรับ คือ คนจีนเก็บอย่างเดียว เก็บได้แล้วก็นำไปฝากธนาคาร ธนาคารมีเงินฝากเยอะก็ปล่อยกู้ ให้เขากู้ไปลงทุนสร้างโรงงาน ขยายการผลิต แต่ผลิตเสร็จแล้วคนไม่ค่อยนิยมใช้ ใช้กันเท่าที่จำเป็น ดังนั้นผลผลิตก็เหลือ ต้องส่งไปขายเมืองนอก ผลคือจีนได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นทุกปี พอมีเงินเข้าประเทศมาก็ไปสะสมไว้ในธนาคาร ธนาคารก็ปล่อยเงินกู้ กู้เสร็จก็ต้องไปสร้างโรงงานเพิ่ม พอมีโรงงานเพิ่มก็มีการผลิตเพิ่ม ยิ่งผลผลิตเพิ่ม ในประเทศยิ่งบริโภคใช้สอยไม่หมด ก็ต้องส่งออกไปต่างประเทศ จีนจึงได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น ๆ ทำลายสถิติโลกเลย และมีเงินสำรองต่างประเทศมหาศาล มากกว่าญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว แต่มันทำให้โลกเสียสมดุล คือเป็นแรงบีบทำให้เงินหยวนแข็งค่ามากขึ้น เสร็จแล้วรัฐบาลกลางเริ่มจะคุมเศรษฐกิจได้ยากขึ้น เขาบอกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ดีอีกเหมือนกัน
 

     ถ้าใช้เงินแบบอเมริกาก็บอกไม่ดี ประหยัดแบบจีนก็ไม่ดีอีก แล้วอย่างไหนถึงจะดี จริงๆ แล้วโมเดลเศรษฐกิจที่ถูกต้อง คือ ตามหลักพระพุทธศาสนา เอาแบบจีนมาประยุกต์ คือการประหยัดเป็นสิ่งที่ถูกแล้ว ไม่ใช่พอมีเงินมาก็ใช้หมด ใช้เงินปัจจุบันไม่พอ ยังใช้เงินในอนาคตด้วย ไปกู้หนี้ยืมสินมามากมาย เราต้องรู้จักแบ่งปันเงิน ส่วนหนึ่งเป็นของตนเอง ส่วนหนึ่งแบ่งปันให้สังคม ให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าตัวเอง อะไรที่สังคมควรมี เราก็ช่วยบริจาค ช่วยกันทำ เป็นผู้ให้ในสิ่งที่สังคมขาด เราจะต้องสร้างค่านิยมอย่างนี้ให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นแรงจูงใจให้คนมีทรัพย์แล้วต้องรู้จักแบ่งปันให้สังคมนั่นเอง ในอินเดียสมัยพุทธกาลก็เป็นอย่างนี้ คนรวยเป็นเศรษฐีอย่างเดียวคนไม่ชื่นชม แต่ถ้าเป็นเศรษฐีแล้วตั้งโรงทาน ๔ มุมเมือง คนลำบากยากจนเข้ามามีข้าวเลี้ยงตลอด ไม่มีคนอดตาย อย่างนี้ทุกคนยกนิ้วว่า เศรษฐีคนนั้นดีมากๆ คนชมทั้งเมือง เป็นแรงจูงใจให้เศรษฐีอยากเป็นผู้ให้เพิ่มขึ้น

โมเดลของประเทศไทยเราเป็นแบบไหน?

     ประเทศเราในอดีตก็เคยเจอภาวะที่ลำบากทางเศรษฐกิจเหมือนกัน คือ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองมีศึกสงครามตลอด ทำให้เศรษฐกิจค่อนข้างซบเซามาก ต่างประเทศก็ไม่มาค้าขายด้วยเพราะกลัวภัยสงคราม คนก็บอกว่า เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้คงต้องหาทางฟื้นฟูด้วยวิธีเก็บภาษีหรือผลิตอะไรต่างๆ แต่รัชกาลที่ ๒ ท่านทรงมีพระปรีชาสามารถมาก ปรากฏว่าท่านสร้างวัด ท่านให้ป่าวประกาศทั้งแผ่นดิน พอชาวบ้านรู้เท่านั้น อยากได้บุญ ไปขุดสมบัติในดินขึ้นมา   แล้วขอมาร่วมบุญด้วย เงินนั้นก็นำมาใช้ในการจ้างแรงงาน ในการซื้อวัสดุอุปกรณ์ แล้วก็สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจได้อย่างสง่างาม เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนั้นยังไม่ซับซ้อนมาก สร้างวัดใหญ่ ๆ วัดเดียวมีพลังมากพอทำให้เกิดการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจ มีการผลิต มีการจ้างงาน ทำให้เกิดการใช้จ่ายต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ผลคือเกิดการขับเคลื่อนทางสังคมไทย พอต่างชาติเห็นข่าวประเทศไทยกำลังสร้างวัด ก็มีข่าวลือกระฉ่อนว่า บ้านเมืองไทยสงบร่มเย็นแล้ว เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ถึงมีกำลังสร้างวัดได้ เท่านี้เองเรือสำเภาเข้ามาเลย เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยน การค้าต่างประเทศดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศฟื้นเลย นี่คือกุศโลบายของรัชกาลที่ ๒ ถือว่าเฉียบขาดมาก พอเศรษฐกิจไม่ดีแก้ปัญหาด้วยการให้ ได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ เราเคยทำสำเร็จมาแล้ว ฉะนั้นตอนนี้ก็ควรทำให้สำเร็จด้วยเหมือนกัน

จะช่วยเศรษฐกิจด้วยการให้ได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองไม่ค่อยมีเงิน ?

     พูดง่ายๆ ว่า ถ้าคนมีสตางค์ก็พอให้ได้ แต่คนจนจะเอาอะไรไปให้ ในเมื่อจะกินก็แทบไม่พอ นี้เป็นคำถามสากลที่มีอยู่ทั่วไป คือต้องรอให้รวยก่อนแล้วถึงจะให้ ตอนนี้ยังจนอยู่ ยังให้ไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ขอให้ดู ๒ ตัวอย่าง
 
     ขอยกตัวอย่างคนรวยที่สุดในโลกก่อน ปัจจุบันคือบิล เกตส์ เคยครองตำแหน่งมาเป็นสิบปี แต่ว่าเมื่อประมาณเกือบร้อยปีที่แล้ว คนรวยที่สุดในโลก คือ จอห์น ดี. ร็อกกีเฟลเลอร์ รวยกว่าบิล เกตส์ ประมาณ ๕ เท่า เขาคุมการค้าน้ำมันของอเมริกากว่า ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ในมือ สามารถกำหนดราคาน้ำมันได้ จะให้ขึ้นลงเท่าไรก็ได้ แต่รวยขนาดนี้บาทเดียวก็ไม่ให้ใคร

     มีอยู่คราวหนึ่ง ร็อกกีเฟลเลอร์ส่งเรือสินค้าไปขายสินค้าที่แคนาดา พอเรือสินค้าออกจากท่าไปได้ชั่วโมงสองชั่วโมงก็มีประกาศว่า ขณะนี้เกิดพายุในทะเล ร็อกกีเฟลเลอร์ฟังแล้วตกใจเลย เพราะทุกครั้งที่ส่งเรือสินค้าไปเคยทำประกันภัยไว้ แต่ไม่เคยเกิดอะไร เขาเสียดายเงินค่าประกัน คราวนี้เลยไม่ประกัน พอไม่ประกันกลับเกิดพายุขึ้น เขาก็กังวลว่าถ้าเรือสินค้าจมจะทำอย่างไร พนักงานเลยไปวิ่งเต้นประกันย้อนหลังให้ แล้วกลับมาบอกนายว่าสำเร็จแล้ว บริษัทประกันรับประกันย้อนหลังให้   นึกว่าเจ้านายจะดีใจ ที่ไหนได้ร็อกกีเฟลเลอร์กลุ้มหนักกว่าเก่าอีก เพราะวิทยุเพิ่งประกาศว่า ขณะนี้พายุสงบแล้ว เรือสินค้าทั้งหมดปลอดภัย เขาบอกว่าไม่น่าไปทำประกันเลย

     ต่อมา ธุรกิจขยายวงกว้างขึ้น เขายิ่งมีเรื่องกลุ้มมากขึ้น สุดท้ายเครียดจัด เดินไม่ไหว ยกมือก็ไม่ไหว กินอาหารก็ไม่ได้ ต้องมีคนป้อนตลอด ได้แต่กะพริบตา หมอตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอะไรเลย หมอบอกว่าถ้าคุณไม่เปลี่ยนวิธีคิด หมอช่วยอะไรไม่ได้ เขาเลยคิดทบทวนไปมาว่า ถ้าเกิดเราตายไปตอนนี้ เงินที่เราหาไว้จะติดตัวไปได้หรือเปล่า พอได้คิด ก็คิดได้ เขาเลยเปลี่ยนวิธีคิด แทนที่จะ “เอา” ก็คิดว่า “ให้”  ดีกว่า เลยตั้งมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ขึ้นมา แล้วไปช่วยคนลำบากยากจน สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน ช่วยไปทั่วโลกเลย พอเริ่มคิดอย่างนี้ นิ้วกระดุกกระดิกได้ สักพักยกแขนได้ ลุกขึ้นนั่งได้ เดินได้ หายป่วยเลย พอหายแล้วเขาก็ทำอย่างนั้นจริง ๆ ตั้งมูลนิธิแล้วดำเนินงานเต็มที่ สุขภาพเลยแข็งแรง จนอายุเกือบ ๙๐ ปี ถึงได้จากโลกนี้ไป ตอนคิดแต่จะเอาไม่มี  ความสุข พอคิดให้กลับมีความสุข

     มาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ผ่านมามีการจัดบวชพระที่พุทธคยาครั้งใหญ่เกือบร้อยรูป ทางอินเดียขอให้ทางวัดพระธรรมกายช่วยส่งคณะไปจัดงานให้ ทางเราก็เลยส่งหมู่คณะไปช่วยกัน มีทั้งพระ อุบาสก อุบาสิกา

     ตอนที่อุบาสิกาออกมาจากโรงแรม เจอขอทานมารุม แล้วพูดว่า “Maharanee, one rupee.” คือ ขอ ๑ รูปี รูปีหนึ่งประมาณ ๘๐ สตางค์ อุบาสิกาคนนั้นคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยเขาได้ เลยกลับเข้าไปหยิบหนังสือมหาธรรมกายเจดีย์มาเปิดรูปให้เขาดู แล้วอธิบายภาษาอังกฤษง่ายๆ ให้รู้ว่าจะมีการสร้างพระแบบนี้ อย่างที่เห็นในรูปนี้แหละ แล้วยื่นมือออกไปบอกว่า “One Rupee” ขอเงินจากขอทานหนึ่งรูปี พวกขอทานทั้งหมดชะงักงัน ตกใจ มองตาอุบาสิกา แล้วค่อยๆ เดินถอยหลังทีละก้าว ถอยห่างไปเรื่อย ๆ

     พอวันที่สองออกมาจากโรงแรม ก็เจอขอทานมารุมอีก อุบาสิกาของเราก็สูตรเดิม ยื่นมือออกไป “One Rupee” ขอทานทั้งหลายค่อย ๆ เดินถอยหลัง แต่มีคนหนึ่งไม่ถอย เดินแหวกเพื่อนขึ้นมา แล้วหยิบเงินเหรียญขึ้นมา ๑ รูปี วางลงบนฝ่ามือของอุบาสิกา ใบหน้าผ่องใสสว่างไสวทีเดียว เพราะเขามาด้วยอาการของผู้ให้ที่ชนะแล้ว จะมาร่วมบุญสร้างพระด้วยกัน ตั้งหนึ่งรูปี ตั้ง ๘๐ สตางค์ หน้าตามีความสุข แค่ความสุขที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น เกินค่าเงินหนึ่งรูปี  ไปแล้ว ด้วยอานุภาพของเงินหนึ่งรูปีที่ทำบุญมาด้วยความปีติภาคภูมิใจ บุญนี้จะส่งผลให้ภพชาติต่อไป เขาจะเป็นผู้ที่มีฐานะดีทีเดียว เพราะบุญที่เกิดขึ้นนั้นมหาศาล เพราะความตั้งใจเขามีเต็มที่

     ถ้าคนที่ยากจนระดับขอทานยังสามารถให้ได้เมื่อเห็นคุณค่าและคิดจะให้ จะมีใครในโลกนี้บ้างที่ให้ไม่ได้ ทุกคนให้ได้ทั้งนั้น ที่ว่ารายได้น้อย ยากจน ให้ไม่ได้ เป็นแค่ข้ออ้าง หรือถ้าขณะนั้นล้วงกระเป๋าแล้วไม่มีเลยสักบาทเดียว เราก็ยังให้ได้ คือ ให้กำลังใจคนอื่น ให้ความรู้ก็ได้ ให้วิทยาทานก็ได้ ขอให้เรามีหัวใจของความเป็นผู้ให้ที่จะเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน ปรารถนาให้ทุกคนมีความสุข แล้วอยู่ร่วมกันด้วยความสงบร่มเย็น เราสามารถให้กันได้ ฉะนั้นรวยหรือจนไม่เป็นอุปสรรค เป็นแค่เพียงเหตุผลเอาไว้อ้างในเวลาที่ไม่อยากให้เท่านั้นเอง
 

     วัดพระธรรมกายเราถือหลักนี้มาโดยตลอด ฉะนั้นตั้งแต่เริ่มสร้างวัด เราถือหลักว่า คนรวยคนจนมีโอกาสเข้าวัดเหมือนกัน ฐานะครอบครัวไม่ควรเป็นอุปสรรคขวางกั้น เพราะฉะนั้นเราจึงจัดรถมาวัดฟรี จุดขึ้นรถในกรุงเทพฯ มีตั้ง ๔๐-๕๐ จุด มาถึงวัดเลี้ยงข้าวเที่ยงอีก ดังนั้นคนไม่มีเงินเลยก็สามารถมาวัดได้

     ถามว่าแล้วค่ารถมาจากไหน ค่าข้าวมาจากไหน ก็มาจากคนที่มีเงินเยอะ ใครมีเยอะก็ทำบุญเยอะหน่อย แล้วเงินที่ทำบุญก็เปลี่ยนไปเป็นค่ารถ เป็นค่าข้าว แบ่งปันกัน ถ้าอย่างนี้สังคมเราสามารถอยู่ด้วยกันได้

     ขอกำลังใจให้แก่ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจด้วย

     เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา อยากจะฝากไว้ดังนี้ คือ

     ๑. ลดรายจ่ายที่ไม่ควรจ่าย โดยการทำบัญชี แล้วสำรวจการใช้จ่ายของตัวเองให้ดี

     ๒. เพิ่มรายรับ หาทางเพิ่มรายได้ เช่น หางานพิเศษทำ เป็นต้น และขณะเดียวกันให้แบ่งปันกัน จะมีมากมีน้อยก็แล้วแต่ ให้ถือเป็นหลักว่า เราจะต้องให้ทานทุกวัน เช้าใดยังไม่ได้ทำทาน เช้านั้นจะไม่กินข้าว ที่เรามีข้าวรับประทานอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะความ   วิริยอุตสาหะของเราส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเพราะ   บุญเก่าในอดีตของเรา

      ดังนั้น ก่อนจะกินบุญเก่า ให้สร้างบุญใหม่ก่อน จะตักบาตรพระหน้าบ้านก็ได้ ถ้าไม่สะดวกให้เอากระปุกมาใบหนึ่ง เอามาหยอดวันละบาทก็ได้ วันละสลึงก็ได้ แต่ขอให้ทำทุกวัน มากน้อยไม่สำคัญ พอถึงวันพระหรือวันอาทิตย์ที่เราสะดวก เราก็เอาเงินในกระปุกออมสินนั้นไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน หรือไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จะมากจะน้อยถ้า  ทุกคนทำอย่างนี้ ประการแรก ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับตัวเราเองก่อน บุญเกิดขึ้นแน่นอน ประการที่สอง เราจะมีความรู้สึกว่า ชีวิตเราไม่ค่อยมีปัญหา ปัญหาที่ดู   เป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างช้างจะกลายเป็นหมู จากหมูจะกลายเป็นมดไปเลย แล้วเราจะชนะอุปสรรคได้อย่างสบาย ๆ เย็น ๆ โดยมีกำลังบุญภายในเป็นตัวขับเคลื่อนหนุนส่ง เราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเรารู้จักให้เมื่อไร เท่ากับว่าเราสร้างคุณสมบัติหนึ่งในสิบของความเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว แล้วก็ขอให้พวกเรารู้จักการ  สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำใจให้สงบเป็นประจำทุกวันด้วย พอใจเรานิ่ง ดวงปัญญาจะเกิด เราจะมองเห็นปัญหาและวิธีการแก้ได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันกำลังบุญกำลังใจก็จะเกิด จะสามารถเอาชนะและแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้




พิมพ์บทความนี้



บทความอื่นๆ ในหมวด

      ทำไมจีวรพระต้องเป็นสีเหลือง
      ขอไม่นับถือพระสงฆ์
      ข้อคิดธรรมะของพระสุธรรมญาณวิเทศ (สุธรรม สุธมฺโม) จากหนังสือ "หน้าสุดท้าย"
      I can’t respect monks, can I?
      กราบไหว้ทำไม งมงาย !
      Why do people have to pay homage? Ignorant!
      โซเดียม อันตรายใกล้ตัว
      บวชให้สุก
      พลังหญิง
      ตักบาตรใส่บุญ(ตอนที่2)
      ตักบาตรใส่บุญ (ตอนที่1)
      ปัญหามรดก
      ยิ่งใหญ่ในรายละเอียด




   ค้นหา บทความธรรม    

  ฝันในฝันวิทยา
  สารพันธรรมะ
  ปกิณกธรรม
  ผลการปฏิบัติธรรม
  โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
  ธรรมะบันเทิง
  ข่าว
  ข่าวประชาสัมพันธ์
  ข่าวบุญฝากประกาศ
  DMC NEWS
  ข่าวรอบโลก
  กิจกรรมเว็บ dmc.tv
  Scoop - Review DMC
  เรื่องเด่นทันเหตุการณ์
  Review รายการ DMC
  หนังสือธรรมะ
  ธรรมะเพื่อประชาชน
  ที่นี่มีคำตอบ
  หลวงพ่อตอบปัญหา
  อยู่ในบุญ
  สุขภาพนักสร้างบารมี
  นิทานชาดก
  CaseStudy กฎแห่งกรรม
  กฎแห่งกรรม
  เรื่องราวชีวิต
  เหลือเชื่อแต่จริง
  อุทาหรณ์สอนใจ
  ฮอตฮิต...ติดดาว
  วิบากกรรม...ทำให้ทุกข์
  บุญเกื้อหนุน
  ปรโลกนิวส์
  ธรรมะและสมาธิ
  พุทธประวัติ
  สมาธิ
  ผลการปฏิบัติธรรมนานาชาติ
  ทศชาติชาดก
  พุทธประวัติและวันสำคัญ
  บทสวดมนต์
  ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ
  มหาปูชนียาจารย์
  อานุภาพมหาปูชนียาจารย์
  ประวัติ
  กิจกรรม
  ธุดงค์สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
  About DMC
  เกี่ยวกับ DMC
  DMC GUIDE
  มือถือ Mobile
  คู่มือเว็บ www.dmc.tv
  มาวัดพระธรรมกาย
   ค้นหา บทความธรรม    

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง - Related