ข้อความต้นฉบับในหน้า
ปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำความสะอาดวิหารที่มีอยู่ก่อนนั้นแล้ว หลังจากนั้นก็ถวายเป็น
สังฆารามสำหรับการอยู่จำพรรษาของคณะสงฆ์ในวันนั้นทันที วิหารแห่งนั้นจึงกลายเป็น
วัดป่าประจำหมู่บ้านไปโดยปริยาย
เมื่อมหาอุบาสิกากลับไปแล้ว พระภิกษุทั้ง ๖๐ รูป ก็ตกลงกันว่า พวกเราจะแยก
ย้ายกันปลีกวิเวกในป่าตามลำพัง ไม่มีการสนทนาพูดคุยกัน และจะมาประชุมกันเฉพาะ
เวลาบำรุงพระเถระในตอนเย็นและเวลาบิณฑบาตในตอนเช้า หากมีกิจธุระนอกจากนั้น
ให้ตีระฆังเรียกประชุมในท่ามกลางวิหาร เมื่อตกลงกันเป็นเอกฉันท์แล้ว ก็แยกย้ายกันไป
บำเพ็ญภาวนาในป่าตามอัธยาศัย
วันหนึ่งในเวลาเย็น มหาอุบาสิกาถือเภสัชทั้งหลาย มีเนยใสและน้ำอ้อย เป็นต้น
เดินทางมาที่วัดป่านั้นพร้อมกับทาสบริวารและผู้คนในหมู่บ้านที่แวดล้อมกันมาเป็นอันมาก
แต่เมื่อมาถึงแล้วกลับไม่พบคณะสงฆ์อยู่ที่นั่น จึงสอบถามพวกบุรุษ เมื่อทราบกติกาของ
คณะสงฆ์นั้นแล้ว ก็ให้บริวารตีระฆัง พระภิกษุแต่ละรูปเข้าใจว่ามีเหตุอันตรายเกิดขึ้น จึง
รีบออกมาจากที่บำเพ็ญเพียรของตน
มหาอุบาสิกาเข้าใจว่า คณะสงฆ์แตกแยกต่างคนต่างอยู่ จึงสอบถามว่าทะเลาะ
เบาะแว้งกันด้วยเหตุอันใด แต่เมื่อสอบถามแล้ว จึงได้ทราบความว่า คณะสงฆ์มิได้แตกแยก
แต่แยกย้ายกันเจริญสมณธรรมด้วยการพิจารณาความไม่งามของร่างกาย เรียกว่า “อาการ
๓๒” นางจึงขอเรียนสมณธรรมนั้นบ้าง พระภิกษุจึงให้นางเรียนวิธีบริกรรมภาวนาด้วยอาการ
๓๒ อย่างครบถ้วน
จำเดิมนับตั้งแต่นั้น มหาอุบาสิกาก็ตั้งใจบำเพ็ญภาวนาตามที่เรียนมาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยการตั้งจิตอยู่ในความสิ้นไปและความเสื่อมไปของตนตลอดต่อเนื่องทั้งวัน ไม่นานนักก็
เป็นผู้มีกิเลสเบาบางใกล้หมดสิ้น คือบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ
- และโลกิยอภิญญา ซึ่งเป็นการบรรลุโลกุตรธรรมก่อนพระภิกษุทั้ง ๖๐ รูป
หลังจากนั้น มหาอุบาสิกาได้ออกจากสุขในฌานที่ทำให้เป็นพระอนาคามี ตรวจดูด้วย
ทิพยจักษุว่า คณะสงฆ์ทั้ง ๖๐ รูป บรรลุคุณวิเศษใดบ้างหรือไม่ หรือมีอุปนิสัยแห่งอรหัตผล
บ้างหรือไม่ ก็พบว่ามีอยู่ จึงตรวจดูต่อไปว่า ยังมีสิ่งใดขาดตกบกพร่องในการอุปัฏฐากบ้าง
หรือไม่ ก็พบว่าอาวาสเป็นที่สบายแล้ว ขาดแต่อาหารยังไม่เป็นที่สบาย จึงไม่อาจยังจิตให้
บรรลุถึงแก่ความสิ้นอาสวะได้ ทั้ง ๆ ที่การบำเพ็ญเพียรมีอยู่ตลอดเวลากลางวันและกลางคืน
มหาอุบาสิการู้วาระจิตของพระภิกษุทั้ง ๖๐ รูปแล้ว จึงนำอาหารที่พระภิกษุต้องการ
มาอุปัฏฐากให้อาหารเป็นที่สบาย ด้วยการถวายข้าวยาคู และอาหารเลิศรสต่างๆ ให้ถึง
พร้อมทุกประการ พร้อมทั้งกล่าวเชิญชวนให้บริโภคตามความชอบใจ เมื่อพระภิกษุเหล่านั้น
ได้อาหารเป็นที่สบายแล้ว จิตก็มีธรรมชาติเป็นอารมณ์เดียว การบำเพ็ญเพียรก็ก้าวหน้า
ไปตามลำดับอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็สิ้นกิเลสอาสวะ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์