ข้อความต้นฉบับในหน้า
2
การบรรพชาอุปสมบท
ขอความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงบังเกิดแก่ท่านผู้ฟังทุกท่านโดยทั่วกัน
วันนี้อาตมาขอเริ่มต้นการเทศน์ด้วยการยกปัญหาขึ้นมาถามพวกเราสักข้อหนึ่ง คือขอให้พวกเราลองนึกถามตัวเองว่า
นับแต่จำความได้จนกระทั่งถึงวันนี้ เราต้องการอะไรมากที่สุด หรือเรากำลังเสาะแสวงหาสิ่งใดอยู่
อาตมาถามมาหลายที่แล้ว ได้คำตอบตรงกันคือ ต้องการความสุข แม้พวกเราทุกคนที่นี่ก็ต้องการความสุขเหมือนกัน
ไม่มีใครเลยที่ต้องการความทุกข์ ถามต่อว่าความสุขที่พวกเราเฝ้าเสาะแสวงหากันนั้น มีใครได้พบแล้วหรือยัง...... หลายคน
บอกว่าพบแล้ว ครั้นซักไซ้ไล่เรียงเอาจริง ๆ จัง ๆ กลับลังเล เพราะความสุขที่ว่าพบแล้วนั้น แท้จริงเป็นเพียงความสุขชั่วคราว
สุขแบบสุก ๆ ดิบ ๆ ด้วยซ้ำ คือสุขแล้วก็ทุกข์อีก สำหรับความสุขจริง ๆ สุขที่ไม่กลับเป็นทุกข์อีกนั้น จนแล้วจนรอดก็ยังหากัน
ไม่พบ
แม้ใครจะมีอายุยืนเป็นหมื่นเป็นพันปี หากยังไม่ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยังไม่ได้พบคำสอนของพระองค์แล้ว
ต่อให้เกณฑ์คนทั้งโลกมาช่วยกันหาว่าความสุขอยู่ที่ไหน ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้พบ มีแต่คนบางจำพวกเท่านั้น ที่เข้าใจผิด
หลงปลื้มว่า ความสุขจอมปลอมที่ได้รับเพียงชั่วครั้งชั่วคราวนั้น เป็นความสุขที่แท้จริง
อะไรคือความสุขที่แท้จริงของมนุษย์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบความสุขที่แท้จริงแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 2500 กว่าปีก่อนโน้น และได้ทรงอธิบายลักษณะของ
ความสุขไว้ว่า ความสุขแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
(1) ความสุขที่ต้องอิงวัตถุ เรียกว่า "อามิสสุข" วัตถุที่ให้ความสุขนั้นอาจเป็นทรัพย์สิน แก้วแหวนเงินทองข้าวของ
หรือตัวบุคคลก็ได้ เช่น สามี ภรรยา บุตร ธิดา เป็นต้น กล่าวคือต้องได้ของเหล่านี้มาไว้ในครอบครองจึงจะเป็นความสุข
ความสุขชนิดนี้ไม่ถาวร เพราะจะนำความทุกข์ความร้อนใจมาให้ในภายหลัง เช่นความสุขแบบหนุ่มสาวที่ต้องการ
มีคู่ครอง พอได้คู่มาแล้วก็ชื่นใจ แต่ไม่นานความทุกข์ก็ตามมา ทุกข์เพราะห่วงกังวลเรื่องการดูแลเอาอกเอาใจ ห่วงแล้วยัง
หวงอีก เพราะเกรงจะไปเป็นอื่น คอยหวาดระแวง หวงมากเข้าก็กลายเป็นนึง บางคู่ถึงกับหย่าร้างกัน ทุกข์ที่ตามมาจึง
มากกว่าสุขที่ได้รับหลายเท่านัก
(2) ความสุขทางธรรม เรียกว่า "สามิสสุข" ความสุขชนิดนี้เป็นความสุขอันแท้จริงของมนุษย์
เป็นความสุขที่ไม่กลับกลายเป็นทุกข์อีก เพราะเป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ทั้งปวง เรียกว่า "นิพพาน"