ข้อความต้นฉบับในหน้า
บทที่ 3
สถาบันการศึกษากัลยาณมิตร
สถาบันการศึกษากัลยาณมิตรในที่นี้หมายถึง โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย และรวมความถึง
สถาบันที่ตั้งขึ้นเพื่อการให้การศึกษาที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ซึ่งสถาบันทั้งหลายดังกล่าว ถือเป็นสถาบัน
สำคัญที่จะมีส่วนในการปลูกฝังศีลธรรม ตลอดจนการชี้นำผู้คนให้เห็นความสำคัญและเป้าหมายของชีวิตที่
ถูกต้องดีงาม หากสถาบันทั้งหลายดังกล่าวเป็นสถาบันการศึกษากัลยาณมิตร กล่าวคือมิได้ให้เพียงความรู้
ทางโลกที่สามารถนำเอาไปประกอบอาชีพได้เท่านั้น หากสามารถปลูกฝังคุณธรรมให้ผู้คนมีความเก่งและดี
ด้วยแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการศึกษากัลยาณมิตร ทั้งนี้ การจะเป็นสถาบันการศึกษากัลยาณมิตรนั้น
มิได้เป็นเพียงลักษณะที่ผู้บริหารคณาจารย์เป็นผู้นำในการทำกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อการปลูกฝังคุณธรรมเท่านั้น
หากยังมีลักษณะที่นักเรียนนิสิตนักศึกษาในสถาบันนั้นๆ เป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมที่ดีนั้นๆ ได้ด้วย เช่น
การตั้งชมรม หรือกลุ่ม เป็นต้น
3.1 โรงเรียนกัลยาณมิตร
โรงเรียนกัลยาณมิตรแต่ละโรงเรียนต่างมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันในการฝึกอบรมนักเรียนให้มีอริยวินัย
มีลักษณะนิสัยเข้าเกณฑ์มาตรฐานคุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ 4 ประการ คุณสมบัติของมิตรแท้ 16
ประการ คุณสมบัติของกัลยาณมิตร 7 ประการ ดังที่กล่าวมาแล้วในบทที่ 2 ซึ่งขอรวมเรียกคุณสมบัติ
เหล่านี้โดยสรุปว่า “กัลยาณมิตร”
การฝึกอบรมนักเรียนให้เป็นกัลยาณมิตร
การฝึกอบรมนักเรียนให้เป็นกัลยาณมิตรจำเป็นจะต้องจัดทำโครงการฝึกอบรมด้านธรรมะ
ทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ กล่าวคือ ปัญหาการเรียนการสอนธรรมะตามโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย
ที่มีต่อเนื่องกันมาช้านานก็คือครูอาจารย์ผู้สอนวิชาศีลธรรมไม่มีความรู้ในวิชาที่สอนอย่างแท้จริงไม่สามารถ
อธิบายขยายความหัวข้อธรรมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรและตำราเรียนให้นักเรียนเกิดความเข้าใจ
อย่างลึกซึ้งพอที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง
ในที่สุดจึงกลายเป็นว่าทั้งครูทั้งนักเรียนต่างมองไม่ใคร่เห็นประโยชน์ของธรรมะ ธรรมะเป็นของ
โบราณไม่เหมาะกับสภาพสังคมสมัยใหม่ ดังนั้นการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน จึงกลายเป็น
เรื่องน่าเบื่อหน่ายสำหรับทั้งนักเรียนและครูผู้สอน จนเป็นเหตุให้นักการศึกษาหัวตะวันตกพยายาม
เสนอแนะให้ตัดวิชาพระพุทธศาสนาออกจากหลักสูตร ทั้งๆ ที่วิชานี้มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต
28 DOU เครือข่ายองค์กร กัลยาณมิตร