ข้อความต้นฉบับในหน้า
บทที่ 3
ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตรทางวาจา
การทำหน้าที่กัลยาณมิตรทางวาจาในที่นี้หมายถึง
การทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยการใช้คำพูดและ
คำแนะนำ แม้กระทั่งเป็นคำเตือนแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย โดยตั้งอยู่บนความปรารถนาดีและความจริงใจ
ต่อเพื่อนมนุษย์ นั่นคืออาศัยความเป็นกัลยาณมิตรหรือมิตรที่ดีด้วยการใช้คำพูดที่ดีงาม เพื่อแนะนำบุคคล
ทั้งหลายให้รู้จักสิ่งที่มีประโยชน์และมีความประเสริฐต่อชีวิต อย่างไรก็ตามในการพูดนั้น เรื่องของมารยาท
การพูด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาในเรื่องมารยาทการพูดที่ดีงาม เช่น บุคคลบางคนในโลกนี้
ไม่พูดวาจาที่เป็นเท็จไม่พูดวาจาอันทำความแตกร้าวไม่พูดวาจาส่อเสียด ไม่มุ่งเอาชนะกันด้วยการกล่าววาจา
อันเกิดจากความแข่งดีกัน กล่าวแต่วาจาอันมีหลักฐานด้วยปัญญา กล่าวตามกาลอันสมควร
3.1 หลักการทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยวาจา
ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่นักพูดที่มีความชำนาญหรือเป็นนักบรรยายที่มี
ประสบการณ์เชี่ยวชาญ เราจะต้องรู้จักวิธีการพูดและวิธีการสื่อสาร เพื่อนำเอาสิ่งที่ดีและความปรารถนา
ดีภายในจิตใจของเรา ให้ผู้ที่เราไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น รับทราบและเข้าใจในวัตถุประสงค์ของเรา ซึ่ง
การจะฝึกฝนตนเองให้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามให้กับบุคคลทั้งหลายได้ทราบและนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิด
คุณค่ากับชีวิตนั้น เราจะต้องเข้าใจถึงวิธีการพูดที่เหมาะสม ดังที่ได้ศึกษามาแล้วว่า ผู้ที่ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร
นั้นมีหน้าที่สำคัญประดุจนักการทูต คือเป็นบุคคลที่จะเป็นสื่อนำความปรารถนาดีไปมอบให้กับบุคคลทั้งหลาย
ซึ่งลักษณะของนักการทูตที่ดีนั้น มีดังนี้
1. ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ด่วนปฏิเสธ
2. เมื่อถึงคราวพูดก็สามารถทำให้ผู้อื่นฟัง
3. รู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้กะทัดรัด
4. จำเนื้อความทั้งหมดที่จะพูด
5. เข้าใจเนื้อความทั้งหมดโดยละเอียดตามความเป็นจริง
6. ทำให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้
สัมปสาทนียสูตร, ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. เล่ม 15 ข้อ 83 หน้า 196.
36 DOU ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร