ข้อความต้นฉบับในหน้า
มาแต่ไกลพอดี พราหมณ์นี้มีความรักเคารพนับถือพระมหาเถระเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงรีบเข้าไปกล่าว
ทักทายด้วยความยินดีปรีดา เสมือนหนึ่งญาติผู้จากไปไกลกลับมาที่บ้าน พระเถระเองเห็นเป็นโอกาสเหมาะ
จึงชักชวนพราหมณ์ให้นั่งพักที่โคนร่มไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง แล้วถามถึงความไม่ประมาทในการประพฤติธรรมของ
พราหมณ์
พราหมณ์เมื่อได้รับคำถามเช่นนั้นก็รู้สึกละอายใจ กราบเรียนพระเถระตามความเป็นจริงว่า ที่
ผ่านมาตนเองมัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน มุ่งหน้าแต่ในการแสวงหาทรัพย์ จึงทำให้ย่อหย่อนในการ
ประพฤติธรรม ประมาทในการดำเนินชีวิต เพราะว่าการครองเรือนเต็มไปด้วยเครื่องกังวลใจ มีกิจธุระมากมาย
ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา บุตรภรรยา ต้องเลี้ยงพวกทาสกรรมกร ต้องฝืนใจทำบาปทั้งๆ ที่มีความละอายต่อ
บาปอย่างยิ่ง
พระเถระมองดูพราหมณ์ด้วยสายตาที่เปี่ยมด้วยเมตตา ต้องการจะเตือนพราหมณ์ให้ได้สติ จะได้
กลับตัวกลับใจมาตั้งมั่นในการทำความดีเหมือนเดิม จึงกล่าวกับพราหมณ์ว่า “ท่านพราหมณ์ อาตมาเข้าใจ
ความรู้สึกของท่านดี แต่อาตมามีปัญหาอยากจะถามท่าน ให้ท่านช่วยตอบสักหน่อย พราหมณ์ มีบุคคลผู้
หนึ่ง ประกอบอกุศลกรรม ประพฤติทุจริตเพียงเพื่อประสงค์จะเลี้ยงดูบิดามารดา เลี้ยงดูบุตรภรรยา ต้องการ
ทำสงเคราะห์ให้แก่ญาติสายโลหิต ต่อมาเมื่อเขาตายแล้ว ถูกนายนิรยบาลฉุดคร่าโยนลงไปยังมหานรกอัน
น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง เขาจึงอ้อนวอนต่อนายนิรยบาลว่า
การที่ข้าพเจ้ามีความประมาท ประพฤติอกุศลธรรม ประกอบทุจริตกรรม ก็เพราะข้าพเจ้ามี
ความต้องการจะได้ทรัพย์มาบำรุงเลี้ยงบิดามารดา เลี้ยงดูบุตรภรรยา ต้องสงเคราะห์ให้แก่ญาติสายโลหิต
ต้องทำบุญส่งไปให้แก่บุรพเปตชน ต้องบวงสรวงแก่เทวดา ต้องทำกิจให้แก่องค์พระราชาธิบดี ฉะนั้นขอ
ท่านนายนิรยบาล ได้โปรดเมตตากรุณาต่อข้าพเจ้าด้วยเถิด อย่าได้ฉุดคร่าข้าพเจ้าไปลงในมหานรกเลย หรือ
บิดามารดาของเขาผู้นั้น เมื่อเห็นว่าบุตรสุดที่รักกำลังจะถูกนำไปไต่สวนในยมโลก แล้วต้องเสวยวิบาก
กรรมในมหานรก จะพึงเข้าไปอ้อนวอนต่อนายนิรยบาลว่า ขอท่านนายนิรยบาลได้โปรดเมตตาบุตรของ
ข้าพเจ้าด้วยเถิด อย่าได้ฉุดคร่าเขาลงไปในมหานรกเลย
ดูก่อนพราหมณ์ นายนิรยบาลจะเกิดจิตเมตตายินยอมตามคำอ้อนวอนขอร้องนั้นหรือ หาเป็น
เช่นนั้นไม่ แต่นายนิรยบาลก็ยังคงทำตามหน้าที่ของตน ถึงแม้บุคคลทั้งสองฝ่ายนั้น จะได้ร้องไห้
คร่ำครวญจนน้ำตาไหลเป็นสายเลือด แต่นายนิรยบาลก็ไม่ยินยอม และย่อมจะฉุดคร่าเขาโยนลงไปใน
มหานรกตามเดิม เขาย่อมได้เสวยวิบากกรรมอันทุกข์ทรมานที่ตนได้กระทำไว้สิ้นกาลนาน”
ครั้นพราหมณ์ได้ฟังพระเถระผู้เป็นยอดกัลยาณมิตร ก็ได้สติหันมาปฏิญญาตั้งมั่นอยู่ในการ
ทำความดีอีกครั้ง และท่านธนัญชานิพราหมณ์ผู้นี้เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลของพราหมณ์ ซึ่งจะมี
ความเชื่อว่า ตนเองสืบเชื้อสายมาจากพระพรหม เพราะฉะนั้นท่านจึงได้รับการปลูกฝังให้มีความเลื่อมใส
ในพระพรหม และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ในการที่จะได้ไปบังเกิดในพรหมโลก พระเถระทราบจริต
อัธยาศัยของพวกพราหมณ์เป็นอย่างดี เพราะตัวท่านเองก็เป็นพราหมณ์มาก่อน จึงกล่าวสอนปฏิปทาข้อ
ปฏิบัติให้ถึงพรหมโลกแก่พราหมณ์
บทที่ 8 ประสบการณ์การทำหน้าที่ กัลยาณมิตร DOU 131