ข้อความต้นฉบับในหน้า
วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (ใช้ฟันบนฟันล่างขบกันให้แน่น) และกดพระตาลด้วย
พระชิวหาให้แน่น(ใช้ลิ้นดันกดเพดานปาก) ทรงกระทำนานเข้า บังเกิดทุกขเวทนาแรงกล้าจนเหงื่อไหลออก
จากรักแร้ แม้พระวรกายจะปวดร้าวเพียงใด พระองค์ยังคงรักษาพระหฤทัยไว้ได้มั่นคง ทรงมีพระสติตั้งมั่น
ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้ ทรงเปลี่ยนวิธีการ
วาระที่สอง ทรงกลั้นลมอัสสาสะ และปัสสาสะ คือ ทรมานด้วยการผ่อนลมหายใจเข้าออกให้ลม
เดินได้ทีละน้อย เมื่อลมหายใจออกทางจมูกและปากไม่สะดวก ถูกกั้นไว้นานเกิดแรงดันดังอู ในช่องหู เกิด
อาการปวดศีรษะ เสียดท้อง เกิดความเร่าร้อนกายเป็นกำลัง กระนั้นยังมีสติแจ่มใส พิจารณาแล้วทรงเห็น
ว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้แน่ จึงเปลี่ยนวิธีการ
วาระที่สาม ทรงทรมานอย่างยิ่งยวดด้วยอดพระกระยาหาร โดยการเสวยให้น้อยลงทุกวัน จนไม่
เสวยเลย มีพระวรกายแห้งเหี่ยว พระฉวีเศร้าหมอง จนมองเห็นพระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อทรงเอา
มือลูบพระวรกาย พระโลมา (ขน) ก็ร่วงหล่นลงมา พระกำลังอ่อนล้ายิ่ง แต่ยังคงมีพระสติมั่น
หลังจากที่ได้บำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมตามที่ปรารถนาได้กลับได้รับแต่
ทุกขเวทนาอย่างเดียว ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ได้เกิดความคิดว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งใน
อดีตกาล ในอนาคต และในปัจจุบันนี้ ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่งก็
เพียงเท่านี้ จะไม่ยิ่งไปกว่านี้ แต่ถึงบำเพ็ญด้วยความเพียรอย่างยิ่งดังนี้ ก็ไม่ได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐ
อันพิเศษกว่าธรรมของมนุษย์ จึงเห็นว่าน่าจะไม่ใช่ทางตรัสรู้ ทางตรัสรู้น่าจะเป็นอย่างอื่น
ต่อจากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ได้หวนลำลึกถึงเมื่อครั้งงานแรกนาขวัญของพระราชบิดา เมื่อพระองค์ยัง
ทรงพระเยาว์ ทรงประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้หว้าอันเยือกเย็น ทรงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม บรรลุปฐมฌาน
มีวิตก มีวิจาร มีปิติและมีสุข เกิดแต่วิเวก พระองค์จึงได้ตกลงว่าทางนั้นจะพึงเป็นทางเพื่อตรัสรู้ได้ และ
พระองค์ก็ถามตนเองว่า ควรกลัวต่อความสุขที่สงัดจากกาม ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลายหรือไม่ และตอบ
ด้วยพระองค์เองว่า พระองค์ไม่กลัวต่อความสุขนั้น แต่ว่าความสุขนั้น คนที่มีร่างกายซูบผอมมาก ไม่
สามารถจะทำให้บรรลุได้ ทางที่ดีควรบริโภคอาหารหยาบ และสุดท้าย พระองค์ก็ได้ตกลงใจว่าจะบริโภค
อาหารหยาบ จากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็เริ่มบริโภคอาหารหยาบ และเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป
ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผู้เฝ้าคอยอุปัฏฐากมาตลอด 6 ปีที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยหวังว่า “พระสมณะ
สิทธัตถะบรรลุธรรมแล้ว จะได้บอกธรรมนั้นแก่พวกเรา” แต่บัดนี้ สมณะนี้กลับเลิกล้มความเพียร กลับ
มักมากในกามคุณ จึงเสื่อมศรัทธาหนีกลับไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
พุทธประวัติในช่วงปฐมกาลก็ดำเนินมาสิ้นสุดตรงนี้ เป็นช่วงรอยต่อสำคัญของการแสวงหาวิธีการ
หลุดพ้น ซึ่งเนื้อหาจะเข้มข้นยิ่งขึ้นในบทที่ 6
บทสรุป
พุทธประวัติช่วงปฐมกาล เป็นช่วงเวลาณจุดเริ่มต้นตั้งแต่พระบรมโพธิสัตว์ได้จุติลงจากสวรรค์ชั้นดุสิต
ลงสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายาผู้มีความสะอาดบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพื่อรองรับพระโพธิสัตว์ พระนาง
ทรงสุบินนิมิตอันเป็นมงคล เมื่อพระครรภ์แก่ก็ได้ประสูติพระราชโอรสอันอุดมด้วยลักษณะมหาบุรุษ และ
132 DOU ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า