ข้อความต้นฉบับในหน้า
8. สัมมาสมาธิ คือ สมาธิชอบ
สมาธิ เป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จทุกอย่าง แต่คนส่วนมากพอได้ยินคำว่า สมาธิ ใจก็นึกไปถึงฌาน
วิปัสสนาชั้นสูง ความจริงแล้วสมาธิต้องใช้ในการงานทุกอย่าง ไม่ว่างานสูงต่ำอย่างไร จะต่างกันก็แต่ว่า จะ
ต้องใช้สมาธิสูงต่ำเพียงใด สมาธิเพียงเบาบางหรือเข้มข้นเพียงไร
สมาธิ คือ ลักษณะที่จิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านกระสับกระส่าย วุ่นวายไปในอารมณ์
อื่นอันเป็นเหตุภายนอก เหมือนเสาเรือนที่ปักลงมั่นคงย่อมรับน้ำหนักได้ดี ไม่โยกไม่คลอนฉันใด ดวงจิตที่
มั่นคงด้วยกำลังสมาธิก็ฉันนั้น ย่อมไม่วอกแวกหวั่นไหว กระแสดวงจิตก็เหมือนกระแสน้ำ ถ้าพุ่งไปทางเดียว
ก็มีกำลังแรง เมื่อแยกไปหลายทาง กำลังแรงก็อ่อนลง สมาธินี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง กุศลธรรมทั้งปวง จะสำเร็จ
ได้ก็ด้วยสมาธิจิตของเราเองเป็นสำคัญ สมาธิจิตนี้เป็นที่ประชุมไว้ ซึ่งกุศลธรรมทั้งปวง กองกุศลทั้งปวงจะมี
ผลมาก ก็ด้วยอาศัยสมาธิจิต สมาธิแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
ขณิกสมาธิ ได้แก่สมาธิจิตแห่งเราท่านทั้งปวงที่ตั้งมั่นได้ในระยะสั้นๆ ชั่วขณะช้างกระดิกหูเพียง
ทีเดียว ก็ได้ชื่อว่า ขณิกสมาธิ
อุปจารสมาธิ ได้แก่ สมาธิจิตอันตั้งมั่นลงในที่ใกล้จะได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
ปัญจมฌาน อยู่แล้ว
อัปปนาสมาธิ ได้แก่ องค์ฌาน มีปฐมฌานเป็นต้น จิตที่ตั้งอยู่ในฌานทั้ง 4 นั้น ได้ชื่อว่า อัปปนาสมาธิ
ในพระธรรมเทศนาเรื่อง สมาธิ หลวงปู่วัดปากน้ำ กล่าวถึงสมาธิแบ่งเป็น สมาธิในปริยายเบื้องต่ำ
และสมาธิในปริยายเบื้องสูง สมาธิในปริยายเบื้องต่ำ ถือเอาตามพระบาลีว่า อิธ อริยสาวโก แปลว่า พระ
อริยสาวกในพระธรรมวินัย โวสสคคารมมณ์ กริตวา ทำให้ปราศจากอารมณ์ทั้ง 6 ทาง ตา (รูปารมณ์) ทางหู
(สัทธารมณ์) ทางจมูก (คันธารมณ์) ทางลิ้น (รสรมณ์) ทางกาย (โผฏฐัพพารมณ์) ทางใจ (ธรรมารมณ์) ไม่
ได้เกี่ยวแก่ใจเลย ได้สมาธิในความตั้งมั่น ได้ซึ่งความที่จิตเป็นหนึ่ง สมาธิในทางปฏิบัติ ผู้ได้ ผู้ถึง เห็นปรากฏ
ชัดทีเดียว เริ่มแรกเป็นการกำหนด บริกรรมนิมิต คือสิ่งที่กำหนดในระยะแรกสุดเพื่อภาวนา บริกรรมนิมิต
เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิด เมื่อจิตตั้งมั่นเริ่มเป็นอุปจารสมาธิ แทนขณิกสมาธิ จะเห็นบริกรรมนิมิต ติดอยู่
ภายในใจเป็นมโนภาพ แม้หลับตาก็จะเห็นชัดเหมือนยิ่งกว่าลืมตาเห็น คือ เมื่อบริกรรมนิมิต เปลี่ยนเป็นอุคคหนิมิต
อุคคหนิมิตที่ตั้งมั่นยิ่งขึ้นเป็นอุปจารสมาธิอย่างสมบูรณ์ อุคคหนิมิตจะเปลี่ยนเป็นปฏิภาคนิมิตชัดเจน สามารถ
เปลี่ยนขนาดรูปร่างได้ อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตเป็นนิมิต ที่ต้องทำให้เจริญ จำเป็นต้องรักษาให้ดีจนกว่า
อัปปนาสมาธิจะเกิดขึ้นและสำเร็จเป็น “ฌาน” ซึ่งเป็นสมาธิปริยายเบื้องสูง
สรุปว่า สัมมาสมาธิในเบื้องต่ำ หมายถึง ความตั้งใจแน่วแน่ไม่ย่อหย่อนแห่งจิตในขณะบำเพ็ญทาน
รักษาศีล เจริญภาวนา สดับฟังพระธรรมเทศนา ความแน่วแน่แห่งจิตในขณะบำเพ็ญกุศลธรรมดังกล่าว
แต่ละขณะ จัดเป็นขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิจึงถือว่าเป็นสัมมาสมาธิด้วย
สัมมาสมาธิในเบื้องสูง จึงหมายถึง สมาธิระดับอัปปนาสมาธิ คือ สภาวะที่จิตสงัดจากกิเลสกาม
และวัตถุกามแล้ว เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน พระอริยบุคคลทั้งหลายจะสำเร็จซึ่งมรรคผล
นิพพานนั้นด้วยสมาธิจิตนี้เอง สมาธิจิตจึงเป็นที่สรรเสริญของพระอริยเจ้าทั้งปวง
188 DOU ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า