ข้อความต้นฉบับในหน้า
7.2 สาวกองค์สุดท้าย
สุภัททปริพาชก ชาวเมืองกุสินารา ทราบข่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน จึงเกิด
ความปริวิตกขึ้น ปรารถนาจะเข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อทูลถามปัญหาที่ตนยังสงสัย ได้ขออนุญาต
กับพระอานนท์ถึง 3 ครั้ง แต่พระอานนท์ไม่อนุญาต เพราะเกรงว่า พระพุทธองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อย
พระพุทธองค์ทรงสดับคำเจรจาของท่านพระอานนท์กับสุภัททปริพาชก จึงตรัสให้พระอานนท์อนุญาตให้
สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าตามประสงค์ เมื่อสุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ก็ถามถึงครูทั้ง 6' ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิที่ต่าง
ปฏิญญาว่าตนเองเป็นผู้วิเศษเป็นพระอรหันต์ ได้ตรัสรู้ยิ่งด้วยปัญญา เจ้าลัทธิเหล่านั้นได้ตรัสรู้จริงหรือไม่
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสดับอย่างนั้นแล้ว ทรงตรัสห้ามสุภัททปริพาชก แล้วทรงแสดงธรรมแก่
สุภัททปริพาชกว่า “ดูก่อนสุภัททะ ศาสนาใด ไม่มีอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ศาสนานั้น ย่อมไม่มีสมณะ
ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 แต่ว่าอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 มีอยู่ในศาสนาใด แม้สมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4
ก็มีอยู่ในศาสนานั้น สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 มีอยู่ในศาสนานี้ ดังนั้น สมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3
ที่ 4 ก็มีอยู่ในศาสนานี้ หากภิกษุทั้งหลายยังคงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8
นี้แล้ว โลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ ส่วนลัทธิอื่นๆ ไม่มีสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จึงว่างจากสมณะผู้รู้”
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสจบแล้ว สุภัททปริพาชก เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมาก ได้ทูลขอ
อุปสมบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงติตถิยปริวาส คือวิธีการอยู่กรรมสำหรับพวกเดียรถีย์ที่มาบวช
ในพระพุทธศาสนาแก่เขา โดยต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา 4 เดือน จึงจะได้บวชเป็นภิกษุ แม้พระสัมมาสัม
พุทธเจ้าจะตรัสอย่างนี้ สุภัททปริพาชกก็ไม่ได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะบวช แต่ยังกราบทูลว่า จะอยู่นานถึง 4 ปี
ก็ย่อมได้ แล้วค่อยบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์จึงดำรัสสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททปริพาชกไปอุปสมบท
และเมื่อสุภัททอุปสมบทแล้ว ได้รับกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนสามารถบรรลุ
พระอรหันต์ได้ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนมชีพอยู่
7.3 ปัจฉิมวาจา
ครั้งนั้น ภิกษุสงฆ์ได้มาประชุมพร้อมกันหมดแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุ
สงฆ์ไว้อย่างนี้
1. เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว อย่าพึงมีความคิดว่า ศาสดาไม่มีแล้ว เพราะธรรมและวินัยที่ตถาคต
แสดงแล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนพระองค์
2. การร้องเรียกกันด้วยคำว่า “อาวุโส” ในตอนนี้เป็นการเสมอกันไปทั้งแก่และอ่อน ฉะนั้น
ต่อไปนี้ ภิกษุผู้แก่กว่า จึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า ด้วยชื่อ ด้วยตระกูล หรือด้วยคำว่า “อาวุโส”
ส่วนภิกษุผู้อ่อนกว่า จึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า “ภันเต” หรือ “อายัสมา”
ครูทั้ง 6 คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล นิครนถนาฏบุตร สญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธะกัจจายนะ และอชิตเกสกัมพล
สมณะที่ 1 หมายถึง พระโสดาบัน, สมณะที่ 2 หมายถึง พระสกิทาคามี, สมณะที่ 3 หมายถึง พระอนาคามี, สมณะที่ 4
หมายถึง พระอรหันต์
166 DOU ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า