บทส่งท้ายสามัญญผลสูตร SB 304 ชีวิตสมณะ หน้า 145
หน้าที่ 145 / 209

สรุปเนื้อหา

บทนี้สรุปเรื่องสามัญญผลสูตรในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ซึ่งกล่าวถึงผลของการเป็นสมณะ โดยพระเจ้าอชาตศัตรูมีความต้องการรู้ถึงประโยชน์ของการเป็นสมณะ จึงได้ไปสอบถามกลับได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจน จนได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้รับคำตอบ 14 ข้อ แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ การยกฐานะทางสังคมของผู้บวช การฝึกจิตให้มีสมาธิ และการบรรลุวิชชา 8 ซึ่งนำไปสู่การหลุดพ้น สุดท้ายพระเจ้าอชาตศัตรูได้ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกและขอขมาต่อพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการปลงพระชนม์พระราชบิดา.

หัวข้อประเด็น

-พระสูตรสามัญญผล
-ความหมายของการเป็นสมณะ
-ประโยชน์จากการดำรงเพศสมณะ
-องค์ประกอบการบรรลุวิชชา
-พระเจ้าอชาตศัตรูและการขอขมา

ข้อความต้นฉบับในหน้า

บทที่ 9 บทส่งท้าย 9.1 สรุปเรื่องจากพระสูตร สามัญญผลสูตร เป็นพระสูตรที่ 2 ในคัมภีร์ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยผล ของความเป็นสมณะ คือ ประโยชน์ที่จะได้จากการดำรงเพศเป็นสมณะ หรือบำเพ็ญสมณธรรม พระเจ้าอชาตศัตรู พระราชาผู้ครองกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ ทรงมีความกระหายใคร่รู้อย่างยิ่ง ถึงผลดีของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน จึงเสด็จตระเวนไปถามเจ้าลัทธิต่างๆ ในแคว้นมคธนั้น แต่ ได้รับคำตอบไม่ตรงคำถาม เหมือนถามถึงเรื่องมะม่วง แต่ได้รับคำตอบ เป็นเรื่องขนุน จึงทรงกังขาอยู่ในพระทัย ตลอดเวลา ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ไปประทับ ณ สวนอัมพวัน ใกล้กรุง ราชคฤห์ ซึ่งหมอชีวกโกมารภัจจ์ถวายเป็นสังฆาราม พระเจ้าอชาตศัตรูจึงเสด็จไปเฝ้าทูลถามปัญหานี้อีก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบเป็นข้อๆ รวมทั้งหมด 14 ข้อ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 หมวด คือ หมวดที่ 1 ทำให้ผู้บวชสามารถยกฐานะทางสังคมสูงขึ้นจากเดิม คือ แม้แต่ผู้ที่มีฐานะเดิมต่ำต้อย ในสังคม เช่น เป็นทาส เป็นกรรมกร หรือเป็นชาวนา ก็พ้นจากความเป็นทาส เป็นกรรมกร หรือเป็นชาวนา ได้รับการเคารพยกย่องและการปฏิบัติด้วยดีจากฆราวาสทั้งหลายรวมทั้งพระมหากษัตริย์ หมวดที่ 2 ทำให้ผู้บวชมีโอกาสอบรมจิตใจเป็นสมาธิสูงยิ่งขึ้น จนกระทั่งบรรลุฌานที่ 1 ถึง 4 ตาม ลำดับ ซึ่งทำให้สามารถละกิเลสอย่างกลางได้ หมวดที่ 3 ทำให้ผู้บวชซึ่งบรรลุฌานแล้ว สามารถบรรลุวิชชา 8 อันเป็นหนทางไปสู่ความหลุด พ้นอย่างแท้จริง คำตอบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 14 ข้อ ใน 3 หมวด ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า การที่พระ ภิกษุที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของ พระภิกษุเอง พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเลื่อมใสในพระธรรมเทศนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดพระชนมชีพ แล้วกราบทูลขอขมาในการที่ทรงปลงพระชนม์ชีพพระเจ้า พิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรับการขอขมานั้น เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จกลับแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ถ้าพระเจ้า อชาตศัตรูไม่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ก็จะทรงได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบันในค่ำคืนนี้” 134 DOU ชี วิ ต ส ม ณ ะ
แสดงความคิดเห็นเป็นคนแรก
Login เพื่อแสดงความคิดเห็น

หนังสือที่เกี่ยวข้อง

Load More