ข้อความต้นฉบับในหน้า
โดยหวังจะทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงโปรด แล้วมาเป็นผู้สนับสนุนลัทธิของตน
4.4 คำสอนของครูทั้ง 6
ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสอนของครูทั้ง 6
4.4.1 ครูปูรณกัสสป
ท่านผู้นี้สอนว่า การทำชั่วนั้น ถ้าไม่มีใครเห็นไม่มีใครรู้ และไม่มีใครจับได้ไม่มีใครลงโทษ ผลของความ
ชั่วนั้นก็เป็นโมฆะ จะชั่วก็ต่อเมื่อมีคนรู้เห็นหรือจับได้เท่านั้น ส่วนความดีนั้นก็เหมือนกัน จะมีผลก็ต่อเมื่อมีคนรู้
เห็น มีคนชื่นชม และมีผู้ให้บำเหน็จรางวัล ถ้าไม่มีใครรู้เห็น ไม่มีใครชม และไม่มีใครให้รางวัลแล้วก็ไม่มีผล
ตกเป็นโมฆะ
จากคำสอนของท่านปูรณกัสสปนี้ ย่อมมีความหมายว่า ทำก็ไม่ชื่อว่าทำ เช่น คนทำบุญก็ไม่ชื่อว่า
ทำบุญ คนทำบาปก็ไม่ชื่อว่าทำบาป โดยสรุปก็คือ บุญไม่มี บาปไม่มี ความดี ความชั่วไม่มี เป็นลัทธิที่ปฏิเสธ
กฎเกณฑ์ของศีลธรรมโดยสิ้นเชิง พระพุทธศาสนาเรียกลัทธินี้ว่า “อกิริยทิฏฐิ”
4.4.2 ครูมักขลิโคสาล
ท่านผู้นี้สอนว่า เคราะห์หรือโชคชะตา เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย โดย
ไม่มีใครฝืนได้ ไม่มีใครแก้ไขได้ คนเราจะดีหรือเลว สุขหรือทุกข์ รวยหรือจน อายุยืนหรือสั้น ล้วนเป็น
เรื่องของเคราะห์หรือโชคชะตาบันดาลให้เป็นไปทั้งสิ้น ไม่สามารถแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้ เคราะห์หรือ
โชคชะตายังมีอิทธิพลหรือมีอำนาจบังคับไปถึงชาติต่อๆ ไปอีกด้วย เพราะฉะนั้นคนในชาตินี้เมื่อตายไปแล้ว
อาจจะต้องไปเกิดเป็นสัตว์ก็ได้ แล้วแต่เคราะห์หรือโชคชะตาที่จะบันดาลให้เป็นไป แม้ว่าคนๆ นั้นจะ
พยายามสั่งสมบุญกุศลไว้มากมายเพียงใดก็ตาม
จากคำสอนของครูมักขลิโคสาลนี้ สรุปได้ว่า กรรมที่บุคคลทำไว้แล้วในอดีต ไม่มีผลไปถึงในอนาคต
นั่นคือ “ไม่มีเหตุหรือ ไม่มีปัจจัย” นั่นเอง พระพุทธศาสนาจึงเรียกลัทธินี้ว่า “อเหตุกทิฏฐิ
1 ธรรมแห่งอริยะ หน้า 63
* คนที่มีความเห็นผิดอย่างนี้ จะไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป จึงประพฤติผิดศีลผิดธรรมกันอย่างขาดความละอายต่อบาป
เช่น ลูกน้องบางคนที่อยากได้ใคร่ดี ก็พยายามประจบสอพลอนายบ้าง ทำงานชนิดผักชีโรยหน้าบ้าง ในขณะเดียวกันก็หาโอกาส
ให้ร้ายป้ายสีผู้อื่นด้วยเล่ห์เพทุบายอันแยบยล ไม่ให้ใครจับได้ เป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคม
40 DOU ชี วิ ต ส ม ณ ะ