การรักษาศีลและวัตถุประสงค์ 5 ประการ SB 101 วิถีชาวพุทธ หน้า 105
หน้าที่ 105 / 226

สรุปเนื้อหา

การรักษาศีลมีวัตถุประสงค์ 5 ข้อที่สำคัญ เพื่อป้องกันความทุกข์และสร้างสุขทั้งแก่ตนเองและสังคม รวมถึงการพัฒนาคุณธรรมอย่างสมาธิและปัญญา ศีลทำให้ชีวิตในภพชาตินี้สมบูรณ์และสร้างพื้นฐานที่ดีในภพชาติต่อไป ผู้ที่รักษาศีลจะไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งส่งผลให้ครอบครัวและสังคมอยู่ในความสงบสุข การรักษาศีลจึงเป็นการป้องกันทุกข์ในภพชาติข้างหน้าและเป็นรากฐานในการพัฒนาจิตใจและความเข้าใจในชีวิต การดำรงชีวิตตามศีลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้เราและผู้คนรอบข้างมีชีวิตที่ดีขึ้น ในทุติยสังคามวัตถุสูตรกล่าวว่า การกระทำดีหรือไม่ดีของเราย่อมกลับมาหาเรา ผู้ที่ไม่รักษาศีลในสังคมจะพบพาความเดือดร้อนและความทุกข์ไม่จบสิ้น

หัวข้อประเด็น

-วัตถุประสงค์ในการรักษาศีล
-ความสำคัญของการรักษาศีล
-การพัฒนาคุณธรรม
-ความเชื่อมโยงระหว่างศีล สมาธิ และปัญญา
-ผลกระทบของการไม่รักษาศีลต่อสังคม

ข้อความต้นฉบับในหน้า

การรักษาศีล มีวัตถุประสงค์สำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ 1. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติปัจจุบัน ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น 2. เพื่อให้เกิดความสุข ความดีงาม ในการดำเนินชีวิต 3. เพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็น และความดีงามแก่ครอบครัว และสังคม 4. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติต่อไป ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น 5. เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมที่สูงขึ้นไป ได้แก่ สมาธิ และปัญญา อันจะทำให้บรรลุ มรรคผลนิพพานได้ วัตถุประสงค์ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 เป็นวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติสุข ไม่ต้อง ประสบพบเจอกับความทุกข์ ความเดือดร้อน หรือความเสื่อมเสีย ในภพชาติปัจจุบัน เพราะผู้ที่ไม่รักษาศีล มักเบียดเบียน หรือทำความเดือดร้อนให้กับตนเอง หรือผู้อื่น และเมื่อทำแล้ว ความเดือดร้อนที่เป็นผลจาก การกระทำนั้น ย่อมย้อนกลับมาหาตัวเอง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยสังคามวัตถุสูตร ว่า “ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชนะย่อมได้รับการชนะตอบ ผู้ด่าย่อมได้ รับการด่าตอบ และผู้ขึ้งเคียดย่อมได้รับความขึ้งเคียดตอบ ฉะนั้น เพราะ ความหมุนกลับแห่งกรรม ผู้แย่งชิงนั้น ย่อมถูกเขาแย่งชิง” หากแต่ละคนในสังคมรักษาศีล ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ครอบครัวหรือสังคมนั้นย่อมมีความ สงบสุขเรียบร้อย ไม่เกิดความวุ่นวาย การรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมอย่างนี้ วัตถุประสงค์ข้อที่ 4 เป็นวัตถุประสงค์สำหรับป้องกันความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น ในภพชาติเบื้องหน้า เพราะการไม่รักษาศีล ย่อมเป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ และหากเกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ก็จะมีอายุสั้น เป็นผู้ที่ไม่สมประกอบ ร่างกายพิกลพิการ เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ล้วน นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้น การรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อป้องกันความทุกข์ในภพชาติเบื้องหน้าอย่างนี้ วัตถุประสงค์ข้อที่ 5 การรักษาศีล เป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรม คือสมาธิและปัญญา โดย สมาธิจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยศีลที่บริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน หากไม่มีศีล สมาธิก็เกิดไม่ได้ เพราะศีลเป็นเครื่อง ช่วยควบคุมกายกับวาจา ในขณะที่สมาธิเป็นเครื่องช่วยควบคุมใจ ดังนั้น เมื่อกายกับวาจาไม่สงบใจก็ยากที่จะ สงบได้ เมื่อใจไม่สงบแล้ว สมาธิก็ยากที่จะเกิด และเมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญารู้แจ้งในเรื่องความจริงของ ชีวิตก็ย่อมไม่เกิดขึ้นไปด้วย เมื่อไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถกำจัดกิเลสอาสวะเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ทุติยสังคามวัตถุสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 375 หน้า 475. 94 DOU บทที่ 5 ศีล คือ อะไร
แสดงความคิดเห็นเป็นคนแรก
Login เพื่อแสดงความคิดเห็น

หนังสือที่เกี่ยวข้อง

Load More