ข้อความต้นฉบับในหน้า
1.3.2 ความเห็นเกี่ยวกับการสงเคราะห์
การสงเคราะห์ คืออะไร
การสงเคราะห์ หมายถึงการช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่บุคคลต่างๆ ที่ประสบปัญหาความ
ขาดแคลน อดอยากยากไร้ ทุพพลภาพ ชราภาพช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หรือได้ยาก เด็กกำพร้าไร้ที่พึ่ง ผู้
ประสบสาธารณภัย ตลอดจนสมณพราหมณ์ ผู้เป็นครูสอนศีลธรรมให้แก่สังคม
การทำทาน กับ การสงเคราะห์ต่างกันอย่างไร
การทำทาน ในความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิอันดับแรกที่ผ่านมา เป็นการแบ่งปันสิ่งของที่เรามีอยู่
เกินจำเป็นให้แก่ญาติมิตร เพื่อนฝูง เพื่อเป็นการช่วยเหลือกันเป็นรายบุคคลที่ประสบปัญหาเดือดร้อน หรือ
เพื่อแสดงน้ำใจไมตรีต่อญาติสนิทมิตรสหาย โดยที่แต่ละคนไม่ได้มีปัญหาทุกข์ยากอะไร บางครั้งก็อาจเป็น
การแบ่งปันในลักษณะต่างตอบแทนน้ำใจไมตรีต่อกัน เช่น การให้ของกินของใช้แก่เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง
เป็นต้น
ส่วนการสงเคราะห์นั้นมุ่งช่วยเหลือผู้คนทั่วไปในสังคม โดยไม่เจาะจงว่าจะเป็นมิตรสหายของ
เราหรือไม่ แต่เขาเป็นผู้ด้อยโอกาสในด้านต่างๆ หรือประสบสาธารณภัย จึงมีความเดือดร้อนมาก ถ้าไม่
ได้รับการสงเคราะห์ก็อาจจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หรืออยู่ได้แต่เดือดร้อนอย่างแทบเลือดตากระเด็น
นอกจากนี้ก็มีการสงเคราะห์เหล่าสมณพราหมณ์ ถ้าท่านเหล่านั้นไม่ได้รับการสงเคราะห์ ก็อาจจะไม่
สามารถดำรงอยู่ในเพศนักบวชได้ หรือ ดำรงอยู่ได้ แต่ไม่สามารถทำหน้าที่อบรมสั่งสอนศีลธรรมให้แก่
มหาชนอย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนั้น ความเห็นเกี่ยวกับการสงเคราะห์จึงมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่
สังคมสงเคราะห์ และศาสนสงเคราะห์ แต่การทำทานนั้นมุ่งช่วยเหลือ หรือแบ่งปันให้แก่
ปัจเจกบุคคลเป็นหลัก
ทำไมต้องทำสังคมสงเคราะห์
ได้กล่าวแล้วว่า การทำสังคมสงเคราะห์ ก็เพื่อช่วยเหลือบรรดาผู้คนที่ประสบปัญหาให้มี
ชีวิตรอดอยู่ได้ และมีความสุขพอควร อย่างไรก็ตาม มีความจริงอยู่อย่างหนึ่งว่า คนเราแต่ละคนล้วนมี
ความแตกต่างกันมาตั้งแต่กำเนิด ทั้งด้านสุขภาพ ความสมบูรณ์แข็งแรงทางร่างกายและจิตใจ ด้านฐานะ
ทางเศรษฐกิจและสังคม ด้านสติปัญญา ตลอดจนความสามารถในการทำมาหากินเลี้ยงชีวิต ผู้คนที่มีความ
บกพร่องในด้านต่างๆ ดังกล่าว ย่อมเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม ถ้าผู้ที่มีโอกาสดีกว่าไม่ให้การสงเคราะห์
ตามสมควร ก็จะกลายเป็นผู้แย่งโอกาสของผู้ด้อยโอกาสให้เหลือน้อยลงอีก อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้
ตั้งใจก็ตาม ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ด้อยโอกาสบางกลุ่ม เช่น คนชรา คนทุพพลภาพ และเด็กกำพร้า ต้องจบ
ชีวิตลง โดยไม่มีใครเหลียวแล หรืออาจจะทำให้ผู้ด้อยโอกาสบางกลุ่ม เช่น คนยากจน สร้างปัญหาเดือด
ร้อนให้แก่สังคม เพื่อความอยู่รอดของพวกเขา ด้วยการลักขโมย ทำโจรกรรม จี้ปล้น หรือก่ออาชญากรรม
ในรูปแบบต่างๆ
บ ท ที่ 1 แ น ว คิ ด ใ น ก า ร ป ฏิรูป มนุษย์
DOU 13