ข้อความต้นฉบับในหน้า
อนึ่ง แม้บุคคลที่มีพฤติกรรมของมิตรแท้ครบบริบูรณ์ทั้ง 16 ประการ ก็คงหาไม่พบอีก แม้
บุคคลผู้ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคงก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะแต่ละคนยังไม่สิ้นอาสวะกิเลสนั่นเอง
เพราะฉะนั้น การใช้ตะแกรงกายสิทธิ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือ พิจารณาตัดสินในการเลือกคบมิตร
คงจะต้องยุติอยู่ตรงที่ว่า ถ้าบุคคลใดมีพฤติกรรมของมิตรแท้ก้ำกึ่ง หรือมากกว่าพฤติกรรมของมิตรเทียม
เราก็อาจจะคบหาสมาคมกับเขาต่อไปได้ แต่ก็ไม่ควรจะให้ความสนิทสนมจนเกินไป ทั้งต้องควรระมัดระวัง
ไม่ยอมให้ถูกชักนำไปเกี่ยวข้องพัวพันกับอบายมุข หรือกิจกรรมผิดศีล ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ขณะเดียวกันก็
ควรพยายามชี้นำให้เขาเกิดสัมมาทิฏฐิ เพื่อให้สามารถแก้ไขปรับปรุงตัวของเขาเอง เพราะถึงอย่างไรๆ
คนเราก็ต้องการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ เข้าทำนองน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า นั่นเอง
แต่ถ้าพบว่าบุคคลใดมีพฤติกรรมเป็นมิตรเทียมมากกว่ามิตรแท้ เราก็ควรจะถอยออกมาให้ห่างๆ
ถ้าตัวเราเองอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าพอ ศรัทธาในการทำความดียังไม่มั่นคงพอ สติปัญญายังไม่ลึกซึ้งพอ ก็
จำเป็นต้องหนีให้ไกลคนประเภทนี้ เพราะนอกจากเราอาจจะติดเชื้อเลวมาแล้ว ยังจะถูกสังคมรังเกียจอีก
ด้วย ถ้าเรามีจิตเมตตาอยากจะเป็นกัลยาณมิตรให้แก่เขาก็ต้องคอยจนกว่าเราจะมีอินทรีย์แก่กล้า และมี
ความสามารถสูงพอที่จะชี้นำเขาได้
3.3.2 ประโยชน์สูงสุดของตะแกรงกายสิทธิ์
เราจะต้องใช้ตะแกรงกายสิทธิ์อย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
การที่เราใช้ตะแกรงกายสิทธิ์ไปร่อนทิ้งพฤติกรรมมิตรเทียม และร่อนหาพฤติกรรมมิตรแท้
ของผู้อื่นนั้น ประโยชน์ที่จะเกิดแก่เรายังไม่มากพอ เพราะมีประโยชน์เพียงช่วยให้เรามองออกว่าใครเป็น
มิตรเทียม ใครเป็นมิตรแท้เท่านั้น อย่างนี้ยังถือว่าการใช้ตะแกรงกายสิทธิ์ยังไม่เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าจะ
ให้การใช้ตะแกรงกายสิทธิ์เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องนำไปใช้ใน อีก 2 ลักษณะ คือ
1. ร่อนสำรวจพฤติกรรมของตนเอง
2. ร่อนสำรวจพฤติกรรมของบุคคลใกล้ชิด
1. ร่อนสำรวจพฤติกรรมของตนเอง เรื่องนี้ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะตามปกติคนเราจะมี
นิสัยชอบตรวจสอบผู้อื่นอยู่เป็นประจำ แต่ไม่เคยตรวจสอบลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของตนเองเลย แม้
บางครั้งจะรู้ว่าตนเองแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม แต่ก็ยังแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ อีก โดยไม่มีการแก้ไข เช่น
นินทาเพื่อนลับหลัง เพื่อเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ให้เพื่อน เป็นต้น
หรือในบางครั้งทั้งๆ ที่รู้ว่าการกระทำบางอย่างไม่ถูกต้องด้วยประการทั้งปวง บางอย่างผิด
ศีลธรรม บางอย่างผิดกฎหมาย เช่น การดื่มสุราเมรัย การปลอมแปลงลายเซ็น การเป็นพยานเท็จ ก็ยัง
กล้าเสี่ยงกระทำลงไป เข้าทำนองดีชั่วรู้หมดแต่อดไม่ได้ บุคคลที่ไม่รู้จักปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
ย่อมไม่มีวันเป็นคนดีได้ทั้งโลกนี้ และโลกหน้า
122 DOU สูตรสำเร็จ การพัฒนาสังคมโลก