ข้อความต้นฉบับในหน้า
บทที่ 6
บทสรุป
6.1 ความหมายของการปฏิรูปมนุษย์
6.1.1 การปฏิรูปมนุษย์หมายถึงอะไร
การปฏิรูปสิ่งใดก็ตาม ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น การเปลี่ยนสิ่งที่เป็นโทษ
ให้เป็นคุณ การเปลี่ยนสิ่งที่ล้าสมัยให้เป็นสิ่งที่ทันสมัย ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง
เหมาะสม ดีงาม ดังนั้นสาระสำคัญของการปฏิรูปมนุษย์ จึงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ผิด หรือไม่ดีของมนุษย์
ให้ถูกต้องเหมาะสมดีงาม
อะไรคือสิ่งที่ไม่ดีของมนุษย์ ที่มองเห็นได้ง่ายคือ พฤติกรรมทางกาย และทางวาจาที่ไม่ดี เช่น
การแสดงความเห็นแก่ตัว การกระทำทุจริตต่างๆ และการกล่าววาจาทุจริต เป็นต้น พฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านี้
จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ให้เป็นการกระทำที่สุจริต และการกล่าววาจาที่สุจริต หรือกล่าว
อีกอย่างหนึ่งว่านิสัยชอบทำกรรมชั่วของคนเรา จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้มีนิสัยชอบทำ
แต่กรรมดีเท่านั้น
อะไรคือเหตุปัจจัย ที่ทำให้คนเรามีนิสัยชอบทำกรรมชั่ว เหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเราชอบ
ทำกรรมชั่วก็คือ ความคิดผิดๆ ซึ่งมีสาเหตุเนื่องมาจากความเห็นผิดเป็นเบื้องต้น ความเห็นผิดนี้ มีคำศัพท์
ทางธรรมว่า “มิจฉาทิฏฐิ” ความเห็นผิดนี้เกิดจากจิตใจ ที่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส 3 ตระกูล คือ โลภะ โทสะ
โมหะ บุคคลใดก็ตามที่มีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมจะก่อแต่กรรมชั่วเป็นนิสัยสันดาน พฤติกรรมเช่นนี้
นอกจากจะนำความทุกข์ ความเดือดร้อน มาสู่ตัวบุคคลผู้ก่อกรรมชั่วเอง และสังคมโดยรวมในโลกนี้แล้ว
บุคคลผู้นั้นยังจะต้องไปรับโทษทัณฑ์อย่างสุดแสนสาหัสในอบายอีกนานแสนนานในโลกหน้าอีกด้วย
เพราะฉะนั้นความเห็นผิดนี้ จึงจำเป็นต้องได้รับเปลี่ยนแปลง ให้เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งมี
คำศัพท์ทางธรรมว่า “สัมมาทิฏฐิ”
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปมนุษย์มีความหมายที่สรุปได้ เป็น 2 นัย คือ
1. การปฏิรูปมนุษย์ หมายถึง การเปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิของ ผู้ใหญ่หรือเยาวชนที่เจริญเติบโตแล้ว
ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
2. การปฏิรูปมนุษย์ หมายถึง การปลูกฝังสัมมาทิฏฐิลงในจิตใจของเด็กๆ นับตั้งแต่ยังเป็นทารก
เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ เข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคงถาวรแล้ว มิจฉาทิฏฐิก็จะไม่สามารถแทรกแซงได้ เขาจึงตั้งอยู่
ในความดีได้ตลอดไป
210 DOU สูตรสำเร็จการพัฒนาสังคมโลก