ข้อความต้นฉบับในหน้า
2.1 จุดเริ่มต้นของการบวช
บทที่ 2
คณกโมคคัลลานสูตร
บทฝึกในทางพระพุทธศาสนา เริ่มต้นจากการที่บุคคลผู้มีปัญญา ได้ฟังธรรมจากพระสัมมา
สัมพุทธเจ้า แล้วนำมาพิจารณาใคร่ครวญ ปฏิบัติตาม จนเกิดความรู้ความเข้าใจในความจริงของโลกและ
ชีวิต เมื่อเข้าใจได้ถูกต้องอย่างนั้น ความศรัทธาเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมเกิดขึ้น กระทั่งเกิด
เป็นดวงปัญญา เข้าใจในชีวิตของฆราวาสว่า “ฆราวาสเป็นที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งกิเลส เพียงดังธุลี
บรรพชาเป็นโอกาสอันปลอดโปร่ง”
ที่กล่าวว่า “เป็นที่คับแคบ” เพราะชีวิตของฆราวาสในแต่ละวัน ล้วนหมดไปกับการทำมาหาเลี้ยง
ตนเองและครอบครัว มีโอกาสสั่งสมบุญกุศลได้น้อย บางคนแทบจะไม่ค่อยมีเวลามาสวดมนต์ไหว้พระ หรือ
ไม่เคยมีโอกาสศึกษาธรรมะใดๆ ดังนั้นถึงแม้บางคนจะมีชีวิตที่สะดวกสบาย แต่ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อการสร้าง
บุญบารมี
ที่กล่าวว่า “เป็นทางมาแห่งกิเลส เพียงดังธุลี” เพราะสภาพชีวิตในสังคมของฆราวาส ล้วนปะปน
ไปด้วยคนชั่วและคนดี ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ผลจากการกระทำนั้นจึงเป็นทางสั่งสม
พอกพูนกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจขึ้นมา อุปมาเหมือนกับกองขยะที่เป็นที่สะสมฝุ่นธุลีและสิ่งปฏิกูล
ที่กล่าวว่า “บรรพชาเป็นโอกาสอันปลอดโปร่ง” เพราะเกิดความเห็นว่า หากยังพอใจในฆราวาส
วิสัยต่อไป ก็ยากที่จะได้สร้างบุญบารมี หรือยากที่จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส
อาสวะทั้งปวง และโอกาสที่จะพลาดพลั้งไปทำความชั่ว หรือเบียดเบียนกันก็ยังคงมี ดังนั้นการบวชจึงเป็น
หนทางที่ดีที่สุดกับชีวิตของตนเอง
เมื่อเห็นประโยชน์เช่นนั้น จึงตัดสินใจเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อแสวงหา
ความสุขที่แท้จริง จากการฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อขัดเกลา กาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นจาก
กิเลสอาสวะ เข้าถึงพระนิพพานอันเป็นบรมสุขต่อไป
จูฬหัตถิปโทปมสูตร, มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่ม 18 ข้อ 332 หน้า 477
24 DOU แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา