ข้อความต้นฉบับในหน้า
ในทางตรงกันข้าม พระองค์กลับสรรเสริญผู้ที่เรียนมามาก และไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรมว่า
“อยู่ในธรรม” ดังพุทธพจน์ที่ว่า
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ
คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เธอย่อมไม่ปล่อยให้
วันคืนล่วงไป ไม่ละการหลีกออกเร้นอยู่ ประกอบความสงบใจในภายใน
เพราะการเล่าเรียนธรรมนั้น ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้อยู่ในธรรมอย่างนี้แล
ดูก่อนภิกษุ เราแสดงภิกษุผู้มากด้วยการเล่าเรียนธรรม แสดงภิกษุผู้มาก
ด้วยการสาธยายธรรม แสดงภิกษุผู้มากด้วยการตรึกธรรม แสดงภิกษุ
ผู้อยู่ในธรรมด้วยประการฉะนี้
ดูก่อนภิกษุกิจใดอันศาสดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล อนุเคราะห์ อาศัยความ
เอ็นดู พึงกระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว
ดูก่อนภิกษุ นั่นโคนต้นไม้ นั่นเรือนว่าง เธอจงเพ่งฌาน อย่าประมาท อย่า
เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังนี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลาย”
ทั้งนี้เพราะหัวใจสำคัญของการศึกษาในพระพุทธศาสนา ก็คือการฝึกปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น
จากกิเลสอาสวะทั้งปวง ดังมีตัวอย่างเรื่องของพระเถระ 2 รูป ดังนี้
เรื่องภิกษุ 2 สหาย
ในสมัยพุทธกาล มีกุลบุตร 2 ท่านเป็นเพื่อนกัน ภายหลังจากที่ได้ฟังธรรมจนเกิดความเลื่อมใส จึง
พร้อมใจกันออกบวชด้วยกันทั้ง 2 คน ต่อมาไม่นานทั้งสองรูปจึงเข้าไปทูลถามพระศาสดาว่าธุระในพระศาสนา
นี้มีเท่าไร เมื่อทราบว่าธุระมี 2 ประการ คือคันถธุระและวิปัสสนาธุระแล้ว รูปหนึ่งมีความตั้งใจจะศึกษาใน
ทางปริยัติ จึงเลือกคันถธุระก่อน ส่วนอีกรูปหนึ่งตั้งใจจะปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา จึงเลือกศึกษาใน
วิปัสสนาธุระ
รูปที่เรียนคันถธุระมีชื่อเรียกว่าพระคันถูกเถระได้เล่าเรียนพุทธพจน์จนแตกฉานและได้เป็นอาจารย์
เจ้าคณะที่มีศิษย์ถึง 500 รูป ในขณะที่รูปซึ่งเลือกวิปัสสนาธุระ มีชื่อเรียกว่าพระวิปัสสกเถระ ได้เจริญ
สมาธิภาวนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ และเป็นอาจารย์สอนการปฏิบัติธรรม จนศิษย์ของท่านต่างได้บรรลุ
ธรรมเป็นพระอรหันต์ด้วยกันหมดทุกองค์
เรียบเรียงจาก “เรื่องภิกษุ 2 สหาย”, อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 40 หน้า 209
10 DOU แม่บท การฝึกอบรม ในพระพุทธศาสนา