ข้อความต้นฉบับในหน้า
คุณธรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อพระภิกษุรู้จักธรรม และเข้าใจความหมายแล้ว จึงนำธรรมะซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมา
สัมพุทธเจ้ามาฝึกปฏิบัติ เพื่อขัดเกลากาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เมื่อฝึก
ปฏิบัติต่อเนื่องเรื่อยไป จนกระทั่งกลายมาเป็นนิสัยรักการทำความดี เกลียดความชั่วฝังแน่นติดตัวไป ซึ่ง
ก็คือคุณธรรมประจำใจของพระภิกษุนั่นเอง
เมื่อคุณธรรมเกิดขึ้นมาแล้วพระภิกษุต้องหมั่นตอกย้ำฝึกฝนตนเองตามคำสอนของสัมมาสัมพุทธเจ้า
เรื่อยไป หมั่นสังเกต พัฒนา และปรับปรุงวิธีการให้เหมาะสม อย่าประมาทเพียงเพราะคิดว่าเราฝึกมามาก
พอแล้ว ดีแล้ว เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถกำจัดอาสวกิเลสให้หมดสิ้นได้ คุณธรรมภายในก็จะยังไม่มั่นคง
5.3 ความสำคัญของการประเมินคุณธรรม
การประเมินคุณธรรมของตนเองอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ทั้งนี้เพื่อจะได้รู้ว่าคุณธรรมของ
เราขณะนี้มีความเจริญก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงใด ห่างไกลจากมาตรฐานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง
กำหนดเอาไว้หรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเรื่อยไป หากหยุดนิ่ง หรือลดลง ต้องรีบ
หาทางแก้ไข ว่าสาเหตุคืออะไร มีอะไรเป็นอุปสรรค เช่น เป็นเพราะมีความเพียรไม่สม่ำเสมอใช่หรือไม่ ถ้า
ใช่ก็เพียรให้มากกว่าเดิม หรือเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมไม่ดี ต้องแก้ไขที่สิ่งแวดล้อม สุขภาพไม่ดี ก็แก้ไขที่สุขภาพ
ความเข้าใจของเราผิดพลาด ก็แก้ไขที่ความเข้าใจ เป็นต้น
การสังเกตและแก้ไข จะช่วยให้เราไม่ตกอยู่ในความประมาท และสามารถฝึกฝนให้คุณธรรมก้าวหน้า
มั่นคง ตรงกับความประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสไว้ใน ฐิติสูตร ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้ซึ่งความตั้งอยู่ในกุศลธรรม
ทั้งหลาย ไฉนจะสรรเสริญความเสื่อมรอบในกุศลธรรมทั้งหลายเล่า ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย แต่เราสรรเสริญความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย มิใช่ความ
ตั้งอยู่ มิใช่ความเสื่อมในกุศลธรรม
...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ
จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นย่อมไม่ตั้งอยู่ ย่อม
ไม่เจริญขึ้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวข้อนี้ว่า เป็นความเสื่อมในกุศลธรรม
ทั้งหลาย”
ฐิติสูตร, อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต, มก. เล่ม 38 ข้อ 53 หน้า 173
92 DOU แม่บทการฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา