ข้อความต้นฉบับในหน้า
ไว้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะท่านเป็นแหล่งแห่งบุญ เป็นบุคคลที่เต็มเปี่ยมไปด้วย
คุณธรรมความดีงาม จึงควรแก่การทำบุญทั้งปวง
4. เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี (อัญชลีกรณีโย) หมายถึง ท่านเป็นผู้ควรกราบไหว้อย่างยิ่ง เพราะ
เมื่อได้กราบท่านด้วยความเต็มใจ ย่อมเป็นการเปิดใจตนเองให้พร้อมน้อมรับคำแนะนำสั่งสอนที่อุดมไปด้วย
อมตธรรม จนสามารถน้อมนำใจให้บรรลุธรรมได้ง่าย หรือถ้าไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็นเหตุให้เกิดศรัทธามั่นคง
ในพระรัตนตรัยให้แก่ตนเอง
5. เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า (อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ) หมายถึง ท่าน
เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศในโลก เพราะท่านเป็นผู้ฝึกปฏิบัติจน กาย วาจา ใจ ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นแหล่งแห่ง
บุญอันยิ่งใหญ่ ที่หากใครได้มีโอกาสทำบุญกับท่าน ย่อมจะได้รับผลอันไพบูลย์ หากอุปมาว่าบุญเหมือน
พืชพันธุ์ธัญญาหาร ซึ่งต้องหว่านต้องปลูกจึงจะบังเกิดขึ้นได้ ใครทำบุญกับท่าน ก็เหมือนกับการหว่าน
พืชพันธุ์ลงไปในผืนนาอันอุดม ซึ่งจะได้ผลผลิต คือ บุญอันไม่มีประมาณ
3.1.2 ความสำคัญของอานิสงส์ทั้ง 5 ประการ
อานิสงส์ทั้ง 5 ประการที่ทรงตรัสไว้นั้น หากดูแต่ผิวเผินก็คงไม่สำคัญอะไร แต่แท้ที่จริงมีความสำคัญ
อย่างยิ่งใหญ่ เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกอานิสงส์เหล่านี้ไว้ว่า เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในตัวของ
พระอริยบุคคล ดังที่พระองค์ตรัสว่า
“สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง
แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อญายธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ 4 บุรุษบุคคล
8 นั่นคือสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของ
ต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญ
อื่นยิ่งไปกว่า”1
จึงหมายความว่า กว่าที่จะได้รับอานิสงส์ทั้ง 5 ประการมา พระภิกษุจะต้องปฏิบัติดังนี้ คือ
1. เป็นผู้ปฏิบัติดี (สุปฏิปันโน) คือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ซึ่ง
ข้อปฏิบัติทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นไปตามแนวมัชฌิมาปฏิปทา คือข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ไม่ถึงกับตึงหรือ
หย่อนจนเกินไป
2. เป็นผู้ปฏิบัติตรง (อุชุปฏิปันโน) คือขั้นต้นก็ปฏิบัติเพื่อกำจัดความคดโกงนอกลู่นอกทาง ทั้งทาง
กาย วาจา และใจ จากนั้นก็มุ่งตรงต่อพระนิพพานเรื่อยไป ไม่มีเปลี่ยนใจไปในทางอื่นๆ อีกเลย
มหานามสูตร, อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต, มก. เล่ม 36 หน้า 530
56 DOU แม่บท การฝึกอบรมในพระพุทธศาสนา