ข้อความต้นฉบับในหน้า
บทที่ ๘
การที่พระภิกษุผู้ทำโครงการเผยแผ่ธรรมะของวัดกัลยาณมิตร
แม้ไม่มีปริญญาการศึกษาทางโลกสูงๆ เช่นฆราวาส ก็ไม่ใช่ปมด้อย ไม่ใช่
อุปสรรค ถ้าพระภิกษุนั้นมีความรู้ ความเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
ทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ มีสมณสารูป มีเมตตากรุณา
ประจําใจ มีอุเบกขาธรรม มีวาทะที่เฉียบคมด้วยปฏิภาณและปัญญา รู้ปัญหา
ธรรมชาติของผู้คนในชุมชนของตน และที่สําคัญคือ มีความเป็น
กัลยาณมิตรอย่างเสมอต้น เสมอปลาย ไม่มีขึ้นลง คุณสมบัติเหล่านี้ คือ
สิ่งที่จะประกันความสําเร็จของพระภิกษุในการบริหารจัดการวัดกัลยาณมิตร
๓. ความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นนามธรรม จึงเป็นเรื่องเข้าใจยาก
ผู้ที่จะรู้ซึ้งถึงคุณค่าอันประเสริฐและยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา ก็ต่อเมื่อ
ตนเองได้ประจักษ์ผลจากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง ซึ่งอาจต้องใช้
เวลานานพอสมควร ยิ่งกว่านั้นถ้าผลของการกระทำ เข้าลักษณะ กรรมที่
จะรอให้ผลในภพชาติต่อๆ ไป เมื่อสบโอกาส (อปรปริยายเวทนียกรรม)
ย่อมยากที่จะให้ผู้คนเกิดศรัทธาอย่างแท้จริงได้
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพระธรรมกถึก ในการที่จะโน้มน้าว
ผู้ฟังให้เห็นคล้อยตามคำเทศน์สอน โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษาทางโลกสูงๆ
แต่ไม่เคยมีพื้นความรู้ในด้านการศึกษาและปฏิบัติธรรมมาก่อน หรือ
เยาวชนสมัยใหม่ ที่ยึดการพิสูจน์ให้เห็นจริงตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์
การที่จะเอาชนะอุปสรรคในเรื่องนี้ได้ พระธรรมกถึกจะต้องมี
ความสามารถในการใช้โวหารอุปมาอุปไมยประกอบการแสดงธรรมเสมอ
เพราะจะทำให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการตามโวหารเปรียบเทียบ ซึ่งจะสามารถ
ตรองตามด้วยเหตุผล นำไปสู่ความเข้าใจธรรมะที่ฟังได้ง่ายขึ้น แล้วเกิด
ศรัทธา นำไปปฏิบัติ ครั้นเมื่อได้ประจักษ์ผลแห่งการปฏิบัติด้วยตนเองแล้ว
ย่อมจะมีศรัทธาเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แล้วพยายามทำหน้าที่กัลยาณมิตร
๓๐๗