ข้อความต้นฉบับในหน้า
ต่อมาวิหารที่สร้างในสมัยของกษัตริย์โซโลมอนได้ถูกทำลายไป จนกระทั่งในภายหลัง
พวกยิวได้สร้างสถานที่ทำพิธีกรรมตามแบบฉบับของพวกตนเรียก “สถานที่นมัสการ”
(Synagogue) อันเป็นที่ชุมนุมทางศาสนาแต่ละกลุ่มของพวกยิวจะปกครองตนเองโดยมีพวก
แรบไบ (rabbi) ซึ่งฮอพฟ์” ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ครูของฉัน” (my master) ทำหน้าที่ตีความ
บทบัญญัติ ทั้งนี้เพราะศาสนายิว เชื่อว่าคัมภีร์โตราห์นั้นไม่ได้เกิดจากมนุษย์ แต่เป็นพระวจนะ
ของพระเจ้า จึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่มีเวลามากพอที่จะศึกษาคัมภีร์อย่างละเอียด มีความสนใจ
อย่างจริงใจ มีความฉลาด และมีความสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้นี้ให้แก่ผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง
สมบูรณ์
ดังนั้น แรบไบ ก็คือผู้เชี่ยวชาญทางศาสนานั่นเอง แต่ไม่ใช่ผู้ที่ทำพิธีทางศาสนาเพราะ
หน้าที่นี้เป็นของพวกยิวตระกูลเลวี (Levites) ซึ่งแต่เดิมมาในอดีตพวกเลวี ทำหน้าที่ทาง
ศาสนาในตำแหน่งปุโรหิตมีหน้าที่ปฏิบัติงานต่าง ๆ ภายในเต็นท์นัดพบ เช่น ดูแลหีบพระบัญญัติ
ดูแลโต๊ะ คันประทีป แท่นบูชา เครื่องใช้นมัสการ การถวายอาหาร การดูแลน้ำมันตามตะเกียง
นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่หามหีบพระบัญญัติเร่ร่อนไปตามถิ่นต่าง ๆ ตระกูลเลวีทำหน้าที่นี้
ต่อเนื่องกันมาช้านานจนกระทั่งปัจจุบันนี้นักบวชยิวจะต้องมาจากตระกูลเลวี ส่วนพวก
แรบไบนั้นอาจเป็นใครก็ได้ แต่ต้องเป็นฆราวาสที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถ
ในการตีความพระคัมภีร์
11.8 พิธีกรรมที่สำคัญ
1. วันสะบาโต (Sabbath)
ศาสนายิวเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกใน 6 วัน วันที่เจ็ดพระเจ้าได้สร้างทุกอย่างสำเร็จหมดแล้ว
จึงหยุดในวันนี้ และให้วันที่เจ็ดเป็นวันที่จิตสงบ เพื่อระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า วันนี้เริ่มตั้งแต่ตอน
เย็นพระอาทิตย์ตกของวันศุกร์ไปจนกระทั่งถึงตอนเย็นพระอาทิตย์ตกของวันเสาร์ ชาวยิวจะจัด
ทำพิธีภายในบ้านด้วยการจุดเทียนและสวดมนต์ จากนั้นจะนำอาหารที่ดีที่สุดมาเลี้ยงกันใน
ตอนเย็นวันศุกร์ แล้วอวยพรด้วยการราดเหล้าไวน์บนขนมปัง พอถึงวันเสาร์ตอนเช้าทุกคนจะ
เข้าสถานที่นมัสการ (Synagogue) เพื่อฟังธรรม อ่านพระคัมภีร์โตราห์ ชาวยิวอนุรักษ์
บางกลุ่มจะถูกห้ามเปิดไฟ ห้ามขับขี่ยวดยานพาหนะ ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามใช้เงิน แต่กระทำจิตให้
สงบเหมือนกับการเข้าเงียบหรือการทำสมาธิ
1 Hopfe, Lewis M. Religions of the World. 3rd ed, 1983 p.334.
308 DOU ศ า ส น ศึ ก ษ า