ข้อความต้นฉบับในหน้า
5.6.2 นิสัยเกิดขึ้นได้อย่างไร
นิสัย คือ ความประพฤติที่เคยชิน ด้วยเหตุนี้นิสัยจึงเกิดขึ้นจากการที่เราคิด พูด และ
ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่บ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องด้วยระยะเวลาหนึ่ง ดังทฤษฎีของนายแพทย์ชาวตะวันตก
ท่านหนึ่งชื่อ แม็กซ์เวลล์ ที่ว่า “หากทำอะไรก็ตามต่อเนื่องกัน 21 วันก็จะเกิดเป็นนิสัย”
5.6.3 ห้าห้องแหล่งบ่มเพาะนิสัย
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณได้ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างละเอียดลึกซึ้งและนำมา
ใช้ฝึกอบรมศิษยานุศิษย์นับล้านคนตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ท่านได้สรุปไว้ว่า แหล่งบ่มเพาะนิสัย
คือ สถานที่ที่เราใช้อยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวันซึ่งมีอยู่ 5 แห่ง หรือ 5 ห้อง คือ ห้องนอน ห้องน้ำ
ห้องครัว ห้องแต่งตัว และห้องทำงาน โดยห้องทำงานนั้นขึ้นอยู่กับเพศภาวะ อาชีพ และวัย
กล่าวคือ หากเป็นนักเรียนห้องทำงานก็คือห้องเรียน ส่วนผู้ใหญ่ก็มีห้องทำงานแตกต่างกัน
ตามอาชีพ เช่น ชาวนามีห้องทำงานคือท้องนาฟ้าโล่ง นักธุรกิจมีห้องทำงานคือห้องแอร์เย็นๆ
ส่วนห้องทำงานของนักสร้างบารมีคือวัดหรือแหล่งบุญอื่น ๆ
วงจรชีวิตของมนุษย์ทุกคนจะหมุนเวียนอยู่ในห้องทั้ง 5 นี้ทุกวัน คือ ตื่นเช้าขึ้นมาจาก
ห้องนอน ก็เข้าไปล้างหน้าล้างตาและขับถ่ายในห้องน้ำ จากนั้นก็เข้าไปรับประทานอาหารใน
ห้องครัว เสร็จแล้วก็แต่งเนื้อแต่งตัวในห้องแต่งตัว แล้วก็นั่งรถออกจากบ้านเพื่อไปห้องทำงาน
ตกเย็นก็กลับเข้าห้องนอน ซึ่งจะหมุนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้นิสัยทั้งดี
และไม่ดีจึงเกิดขึ้นจาก 5 ห้องนี้เป็นหลักเพราะเราใช้อยู่เป็นประจำ
5.6.4 หลักการบ่มเพาะนิสัยที่ดี
เมื่อเรารู้แล้วว่า 5 ห้องดังกล่าวข้างต้นเป็นแหล่งบ่มเพาะนิสัยทั้งดีและไม่ดีกับเรา
ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องบริหารจัดการห้องทั้ง 5 นี้เสียใหม่เพื่อให้เป็นไปเพื่อบ่มเพาะนิสัยที่ดีล้วนๆ
ถามว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้หรือ เรื่องนี้พระเดชพระคุณ
พระภาวนาวิริยคุณได้ให้ข้อคิดไว้ว่า “ของดีต้องปลูก ส่วนของไม่ดีไม่จำเป็นต้องปลูกมันงอกขึ้นเอง
ตามธรรมชาติ” เช่น หญ้าเราไม่จำเป็นต้องปลูกมันขึ้นของมันเอง ส่วนข้าวเราต้องปลูกจึงจะได้กิน
หากไม่ปลูกก็ไม่มีให้กิน นิสัยไม่ดีก็เช่นกันเราไม่ต้องปลูกมันจะเกิดขึ้นเองจากการดำเนินชีวิต
แต่ละวันของเรา ลำพังเพียงการตามกำจัดก็หนักแรงอยู่แล้ว ในทางตรงข้ามคือ นิสัยที่ดีหาก
เราไม่ตั้งใจปลูก มันมักจะไม่เกิดเหมือนกับข้าวอย่างไรอย่างนั้น
บทที่ 5 มนุษยศาสตร์ ในพระไตรปิฎก DOU 107