ข้อความต้นฉบับในหน้า
คำถามนี้เป็น เอกังสพยากรณียปัญหา คือ เป็นปัญหาที่ต้องตอบโดยนัยเดียว กล่าวคือ
จะต้องเลือกตอบอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวในบรรดาบุคคล 3 จำพวกที่กล่าวมา
พระสริฏฐะตอบว่า ผมชอบใจสัทธาวิมุตตบุคคลซึ่งดียิ่งกว่าและประณีตกว่า เพราะ
สัทธินทรีย์(อินทรีย์คือศรัทธา)ของบุคคลนี้แก่กล้ายิ่งนัก
พระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ผมชอบใจกายสักขีบุคคลซึ่งดียิ่งกว่าและประณีตกว่า เพราะ
ว่าสมาธินทรีย์(อินทรีย์คือสมาธิ) ของบุคคลนี้แก่กล้ายิ่งนัก
ส่วนพระสารีบุตรกล่าวว่า ผมชอบใจทิฏฐิปัตตบุคคลซึ่งดียิ่งกว่าและประณีตกว่า
เพราะว่าปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญา)ของบุคคลนี้แก่กล้ายิ่งนัก
จากนั้นพระสารีบุตรได้กล่าวกับพระสวิฏฐะและพระมหาโกฏฐิตะว่า “พวกเรา ต่าง
ตอบปัญหาตามปฏิภาณของตน มาไปด้วยกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
กราบทูลข้อความนี้ เราจักทรงจำข้อความตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบแก่เรา”
เมื่อทั้งสามท่านเข้าไปกราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า ในเรื่องนี้ การตอบปัญหาโดยนัยเดียวว่า บรรดาบุคคล 3 จำพวกนี้ บุคคลนี้ดียิ่งกว่า
และประณีตกว่า ไม่ใช่จะทำได้ง่าย เพราะอาจเป็นไปได้ว่า สัทธาวิมุตตบุคคลบางคนเป็นผู้ตั้งอยู่
ในอรหัตตมรรค แต่กายสักขีบุคคลและทิฏฐิปัตตบุคคลบางคนยังเป็นสกทาคามีหรืออนาคามีอยู่
รวมทั้งอาจเป็นไปได้ว่า กายสักขีบุคคลบางคนเป็นผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ส่วนสัทธา
วิมุตตบุคคลและทิฏฐิปัตตบุคคลบางคนยังเป็นสกทาคามีหรืออนาคามีอยู่ ในขณะเดียวกันก็
อาจเป็นไปได้ว่า ทิฏฐิปัตตบุคคลบางคนเป็นผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ส่วนสัทธาวิมุตตบุคคล
และกายสักขีบุคคลบางคนยังเป็นสกทาคามีหรืออนาคามีอยู่
ในเรื่องนี้ การตอบปัญหาโดยนัยเดียวว่า บรรดาบุคคล 3 จำพวกนี้ บุคคลนี้ดียิ่งกว่า
และประณีตกว่า ไม่ใช่จะทำได้ง่าย เพราะบางครั้งบุคคลทั้ง 3 จำพวกไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะ
สามารถเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากมีภูมิธรรมต่างกันนั่นเอง
2) ตัวอย่างปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา
ครั้งหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ทูลถามสามัญญผล
คือ ผลของความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันว่ามีอยู่หรือไม่
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร ตถาคตจะขอย้อนถามก่อน โปรดตรัสตอบตามที่
พอพระทัย สมมติว่า มีบุรุษผู้เป็นทาสของพระองค์ ซึ่งคอยปรนนิบัติรับใช้พระองค์เป็นอย่างดี
264 DOU สรรพ ศ า ส ต ร์ ในพระไตรปิฎก