ข้อความต้นฉบับในหน้า
ประโยค๘ - วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 224
กรรมฐานนั้นแหละพลาง ทำสติให้ตั้งมั่นดี มีอินทรีย์ทั้งหลายอยู่
กับตัว ( คือสำรวม ) มีความคิดไม่ไปนอกตัว ( คือไม่คิดกลัวอะไรไป
ต่างๆ ) โดยนัยที่กล่าวแล้วในเวลามานั่นแล ( กลับ ) ไปสู่เสนาสนะ
ของตนเถิด อนึ่ง เมื่อออกจากป่าช้านั้น จึงกำหนดดูทางมาด้วยว่า
" เราออกทางใด ทางนี้ตรงไปทิศตะวันออก หรือว่าตรงไปทิศตะวันตก
เหนือ ใต้ หรือว่าตรงไปทิศเฉียง หรืออนึ่ง ตรงนี้ไปทางซ้าย ตรงนี้ไป
ทางขวา ตรงนี้มีก้อนหิน ตรงนี้มีจอมปลวก ตรงนี้มีไม้ต้น ตรงนี้มี
ไม้กอตรงนี้มีไม้เถา " เธอผู้กำหนดดูทางมาอย่างนี้ มา ( ถึงเสนาสนะ
ของตน ) แล้ว แม้นจะจงกรมก็พึงอธิษฐานจงกรมอันเป็นการเกื้อกูล
แก่ฝ่ายอสุภนั้นเท่านั้น หมายความว่าพึงจงกรมในภูมิประเทศอันหันหน้า
ไปทางทิศแห่งอสุภนิมิต แม้จะนั่งก็พึงลาดอาสนะอันเกื้อกูลแก่ฝ่าย
อสุภนั้นเหมือนกัน แต่ถ้าในทิศนั้น บ่อก็ดี เหวก็ดี ต้นไม้ก็ดี รั้วก็ดี
หล่มก็ดีมีอยู่ เธอไม่อาจจงกรมในภูมิประเทศอันหันหน้าไปทางทิศนั้น
แม้อาสนะก็ไม่อาจลาดได้เพราะไม่มีโอกาส ก็ไม่ (ต้อง )เหลียวไป
ทางทิศนั้น พึงจงกรมและนั่งในที่อันควรแก่โอกาสก็ได้ แต่พึงทำจิต
ให้มุ่งต่อทิศนั้นไว้เท่านั้น
[อธิบายคำแก้ปัญหาว่า
การกำหนดจำนิมิตโดยรอบมีประโยชน์อะไร
คำต่อไปนี้เป็นอธิบายคำแก้ ( ปัญหา ) มีคำว่า ( การกำหนดจำ
นิมิตโดยรอบ) มีความไม่หลงเป็นประโยชน์เป็นต้น แห่งปัญหา